ศูนย์วิจัยและพัฒนาเครือเบทาโกร จับมือคณะเกษตรฯ มข. เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแมลงอย่างจริงจัง เปิดโรงเรือนต้นแบบศึกษาวิจัยแมลงกินขยะอินทรีย์ (Black Soldier Fly) เพื่อขจัดขยะจากโรงงานแปรรูปอาหาร ต่อยอดเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงผลิตอาหารสัตว์ และเพิ่มมูลค่าสร้างประโยชน์ด้านอื่นในอนาคต
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นครั้งแรกของไทยในการนำ Black Soldier Fly มาเลี้ยงเป็นจำนวนล้านๆ ตัว เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ถือเป็น Circular Economy หรือการดำเนินธุรกิจหมุนเวียนด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสียให้กลับไปเป็นทรัพยากรที่มีค่าในกระบวนการผลิต ซึ่งคาดว่าจะขยายผลไปสร้างโรงเรือน ทั่วประเทศ
ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า Black Soldier Fly เป็นแมลงดีที่มีอยู่ในธรรมชาติ ไม่นำโรค ไม่เป็นศัตรูพืช มีวงจรชีวิตเพียง 1 เดือน เมื่อออกไข่เกิดเป็นตัวหนอนจะกินขยะอินทรีย์ มูลสุกร ช่วยลดปริมาณขยะ (สัดส่วน: การขจัดขยะอินทรีย์ 1 กิโลกรัม ใช้หนอนอายุ 5 วัน จำนวน 1,000 ตัว ในเวลา 18-20 วัน) ช่วงเป็นตัวดักแด้ก่อนเจริญเติบโตเป็นแมลงเต็มวัยเป็นช่วงที่มีมูลค่าทางโปรตีนสูง นำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ได้ ส่วนมูลนำไปทำเป็นปุ๋ย นอกจากนี้ เรากำลังศึกษาต่อถึงส่วนประกอบของดักแด้ซึ่งมีสารประกอบบางอย่างที่สามารถนำไปเพิ่มมูลค่าต่อได้
โรงเรือนต้นแบบวิจัยและผลิตแมลงอุตสาหกรรม (Industrial Insects Pilot Production Plant) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยกองทุนเพื่อสนับสนุนการลงทุนเชิงพาณิชย์ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนา เครือเบทาโกร ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปีพ.ศ.2560 ก่อสร้างแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2562 มีกำลังการผลิตตัวหนอนแมลงกินขยะอินทรีย์ (Black Soldier Fly) จำนวน 3,000,000 ตัวต่อเดือน เมื่อใช้โรงเรือนเต็มกำลังการผลิตจะผลิตตัวหนอนได้ถึง 6,000,000 ตัวต่อเดือน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น