CAT ปักหมุดหนุนโครงการรัฐดันยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ควบขยายธุรกิจดิจิทัลรายได้ใหม่ - Siamtimes.net

Breaking

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Post Top Ad

Responsive Ads Here

นิทรรศการ งานมหกรรม

การสื่อสาร

วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2562

CAT ปักหมุดหนุนโครงการรัฐดันยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ควบขยายธุรกิจดิจิทัลรายได้ใหม่



CAT ครบรอบสถาปนา 16 ปี ดีเดย์ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ดีเอ็นเอใหม่คอนเซ็ปต์ CATALYST ย้ำบทบาทเดินหน้าโครงการภาครัฐหนุนขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เล็งพัฒนา Cloud และ Big Data ต่อเนื่องรองรับบูรณาการข้อมูลภาครัฐและยุทธศาสตร์ชาติด้านสมาร์ตซิตี้ คืบหน้าขยายธุรกิจดิจิทัลดันโครงข่ายอัจฉริยะ LoRaWAN ต่อยอดพัฒนาธุรกิจสมาร์ตโซลูชัน สิ้นปีครอบคลุมทั่วประเทศ เผยผลประกอบการครึ่งปีฉลุยดีลยุติข้อพิพาทสัมปทานมือถือรายได้พุ่งกำไรกว่า 8.6 พันล้าน


พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เปิดเผยผลประกอบการ 6 เดือนแรกว่า บริษัทฯ มีรายได้รวมกว่า 29,000 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 8,600 พันล้านบาท โดยตัวเลขกำไรเป็นผลจากการยุติข้อพิพาทเสาโทรคมนาคมกับคู่สัมปทานบริษัท TAC และกลุ่มบริษัททรู ขณะที่รายได้การดำเนินงานของ CAT ยังคงมาจากธุรกิจโมบาย, ดาต้าคอม, อินเทอร์เน็ต, ธุรกิจโทรคมนาคมระหว่างประเทศ, บริการดิจิทัล และการให้เช่าเสาโทรคมนาคม

CAT ในสถานะองค์กรโทรคมนาคมของรัฐ ได้ดำเนินงานบริการสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐทุกระดับเพื่อการพัฒนาองค์กรที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นยุทธศาสตร์ดิจิทัลและ Big Data โดยโครงการภาครัฐต่าง ๆ ที่ CAT ดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และคาดว่าจะสร้างรายได้อนาคต ประกอบด้วย โครงการภายใต้กระทรวงดีอี อาทิ โครงการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC (Government Data Center and Cloud service) อยู่ระหว่างกระทรวงดีอีเสนอ ครม.อนุมัติดำเนินการต่อเนื่องด้วยงบประมาณปี 2563 – 2565 โดยระยะแรกปี 2562 จะใช้งบกองทุนดีอีซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ล่าสุดมีหน่วยงานภาครัฐ 80 หน่วยงานให้ความสนใจเข้าใช้บริการระบบคลาวด์กลาง GDCC โดยหลังได้รับงบประมาณ CAT จะใช้เวลา 2 เดือนในการโอนย้ายข้อมูล 40 หน่วยงานรัฐเข้าสู่ระบบ GDCC ในเฟสแรก

โครงการอื่น ๆ ได้แก่ โครงขยายอินเทอร์เน็ตเกตเวย์และเคเบิลใต้น้ำเชื่อมต่อระหว่างประเทศมูลค่า 5,000 ล้านบาทรองรับยุทธศาสตร์ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางข้อมูลดิจิทัลอาเซียน (ASEAN Digital Hub) โครงการต้นแบบสมาร์ตซิตี้ จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ และขอนแก่น โครงการสมาร์ตซายน์ออน บริการหน้าจอ log-in ไวไฟที่ให้ความสะดวกผู้ใช้งานในการเข้าถึงบริการไวไฟของทุกค่ายได้ทั่วประเทศ โครงการดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ ซึ่งเป็นโครงการ PPP ภายใต้ EECd เพื่อการพัฒนาเขตส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลบนพื้นที่กว่า 700 ไร่ ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่อยู่ระหว่างคัดเลือกเอกชนร่วมทุน คาดว่าจะสามารถประกาศผลภายในปลายปี 2562 รวมถึง CAT ยังร่วมกับกรมศุลกากรในโครงการ National Single Window (NSW) ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำ TOR โดยโครงการนี้จะยกระดับประสิทธิภาพกระบวนการนำเข้า-ส่งออกทุกขั้นตอนด้วยระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในอนาคตสามารถจะพัฒนาสู่ NSW ที่เป็นภาพรวมของทั้งประเทศ


ด้านธุรกิจของ CAT ได้เดินหน้าขยายบทบาททางธุรกิจ มุ่งยกระดับจากผู้ให้บริการเชื่อมโยงโครงข่ายพื้นฐานเป็นหลักมาสู่การเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลบนโครงข่ายอัจฉริยะซึ่งมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงข่าย LoRaWAN จะติดตั้งครอบคลุมครบทุกจังหวัดภายในสิ้นปีนี้ตามเป้าหมาย เป็นโครงข่ายเพื่อรองรับการเชื่อมต่อ IoT และการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ของเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยเชื่อมโยงกับทุกโครงข่ายที่มีอยู่ทั้งไฟเบอร์ออปติก ไวไฟและ 3G ทั่วประเทศ โครงข่ายอัจฉริยะนี้เป็นช่องทางสร้างรายได้ใหม่ซึ่งบริษัทฯ ได้ต่อยอดพัฒนาธุรกิจดิจิทัลกลุ่มสมาร์ตโซลูชันภายใต้แบรนด์ LoRa IoT เช่น Smart tracking, Smart lighting, Smart waste, Smart energy ฯลฯ เปิดให้บริการแก่ลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของเมือง ซึ่งขณะนี้ได้นำร่องให้บริการในจังหวัดภูเก็ตเพื่อส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว

กลุ่มบริการสมาร์ตโซลูชันดังกล่าวถือเป็นการพัฒนาธุรกิจใหม่ที่ CAT รอสร้างความพร้อม และมีความเชื่อมั่นว่าจะเติบโตในอนาคต ซึ่งนอกจากจังหวัดภูเก็ตที่เป็นต้นแบบแล้วยังมีความต้องการสูงขึ้นในหลายพื้นที่จากแนวโน้มการพัฒนาเมืองอัจฉริยะตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 CAT จึงได้เตรียมรองรับความต้องการดังกล่าวโดยส่งเสริมกลุ่มสตาร์ตอัป สถาบันศึกษา เครือข่ายนักวิจัยพัฒนาด้านไอโอที ตลอดจนหน่วยงานพันธมิตร NIA, TESA คิดค้นนวัตกรรมโซลูชันใหม่ ๆ บนโครงข่าย LoRaWAN อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน CAT ได้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ พัฒนาอุปกรณ์เซ็นเซอร์และโซลูชัน ไอโอทีเพื่อใช้งานจริงในหลายพื้นที่ เช่น โครงการ Sensor for All ตรวจวัดอนุภาคฝุ่น PM2.5 โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โครงการเพาะเห็ดสมาร์ตฟาร์มโดย ม.ศรีปทุม โครงการระบบรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตผ่านอุปกรณ์ริสต์แบนด์ SOS และเสื้อชูชีพ Smart Life Jacket ฯลฯ ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดจากโซลูชันต่าง ๆ ขึ้นบนระบบคลาวด์เพื่อจัดเก็บ บูรณาการ และต่อยอดการประมวลผลวิเคราะห์ Big Data โดยในอนาคตจะเพิ่มเทคโนโลยี Big Data Analytic วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาได้หลากหลายมิติยิ่งขึ้น

CAT จึงมีโอกาสที่ดีในการพัฒนาธุรกิจด้าน Big Data โดยสามารถอาศัยประสบการณ์บริการโครงข่าย ดาต้าเซ็นเตอร์และบริการคลาวด์ที่ CAT มีความเชี่ยวชาญอย่างยาวนาน บวกกับจุดแข็งในการเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของ CAT เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลัก ที่ให้บริการด้าน Big Data แก่ภาครัฐ โดยเฉพาะการสนับสนุนกระทรวงดีอี ในการนำข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ มาเชื่อมโยงบูรณาการ เพื่อวิเคราะห์ต่อยอดให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดเพื่อการบริหารจัดการประเทศในทุกด้าน 


นอกจากนี้ ในโอกาสสถาปนาองค์กรครบรอบ 16 ปี (วันที่14 สิงหาคม 2562) CAT ยังได้เริ่มใช้ชุดฟอร์มพนักงานใหม่ที่สะท้อนอัตลักษณ์ใหม่ตอกย้ำการพัฒนาองค์กรสู่ธุรกิจดิจิทัล ประกอบกับได้ดำเนินกิจกรรมปรับภาพลักษณ์ในระดับ Brand DNA ของพนักงานทั้งส่วนกลางและภูมิภาคด้วยคอนเซ็ปต์ CATALYST จัดต่อเนื่องตลอดทั้งปีเพื่อยกระดับความพร้อมให้บริการลูกค้าในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการทำความเข้าใจลูกค้าเชิงลึกเพื่อสร้างสรรค์บริการเทคโนโลยีที่สามารถแก้ปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง รวมทั้งการผสมผสานความรู้ความเชี่ยวชาญจากรุ่นพี่และความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานรุ่นใหม่ในรูปของทีมเวิร์กที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป้าหมายในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีใหม่ๆสร้างความสำเร็จให้กับทุกธุรกิจที่ไม่เพียงเป็นลูกค้า แต่เป็นพันธมิตรที่จะก้าวสู่ความ สำเร็จร่วมกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Top Ad

Responsive Ads Here