Fi Asia เทรนด์เซ็ตเตอร์ของวงการอาหารระดับภูมิภาคเอเชีย ฉลองความสำเร็จจัดงานต่อเนื่อง 24 ปี ประกาศเทรนด์อาหารและเทรนด์ผู้ประกอบการปี 2020 - Siamtimes.net

Breaking

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Post Top Ad

Responsive Ads Here

นิทรรศการ งานมหกรรม

การสื่อสาร

วันอังคารที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562

Fi Asia เทรนด์เซ็ตเตอร์ของวงการอาหารระดับภูมิภาคเอเชีย ฉลองความสำเร็จจัดงานต่อเนื่อง 24 ปี ประกาศเทรนด์อาหารและเทรนด์ผู้ประกอบการปี 2020



อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ แถลงข่าวประกาศความพร้อมจัดงาน ฟู้ดอินกรีเดียนท์ เอเชีย 2019 หรือ Fi Asia 2019 ระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2562 ที่ไบเทค บางนา พร้อมครบรอบวาระสำคัญ 24 ปีแห่งความสำเร็จในการแสดงงานด้านอุตสาหกรรมอาหารแห่งเอเชีย ชี้โปรตีนแทนเนื้อสัตว์ขึ้นเทรนด์อาหาร 2020 และยกให้ปัจจุบันเป็นยุคแห่งงานวิจัยผสมเทคโนโลยี ย้ำผู้ประกอบการให้เร่งใช้ AI และเปลี่ยนแพคเกจจิ้งเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าให้เป็นที่ยอมรับและอยู่ในมาตรฐานโลก


นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ ภูมิภาคอาเซียน บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า Fi Asia 2019 เป็นการจัดงานครั้งที่ 24 ของ Fi Asia ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จและความมุ่งมั่นที่จะพัฒนา ยกระดับ และสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารไทยและอาเซียนให้สามารถแข่งขันได้ในทุกตลาด โดยปีนี้มีผู้จัดแสดงสินค้าถึง 750 บริษัท จาก 50 ประเทศทั่วโลก และคาดการณ์ว่ามีผู้เข้าชมงาน ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีศักยภาพในการซื้อและเจรจาธุรกิจมากถึง 20,000 ราย โดย Fi Asia มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 25% ในทุกปีที่มีการจัดงาน และสร้างมูลค่าจากการซื้อ-ขายภายในงานมากถึง 250-300 ล้านบาทในแต่ละปี


พร้อมให้ความเห็นถึงสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่กำลังเกิดขึ้นว่า “ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากไม่มากก็น้อยในทุกประเทศ เนื่องจากทั้งสหรัฐและจีนนั้นเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีทั้งทรัพยากร แรงงาน ผลผลิต และตลาดขนาดใหญ่อยู่ในมือ ผลกระทบที่จะเห็นได้ชัดเจนก็คือผู้บริโภคไม่กล้าใช้เงิน เนื่องจากค่าเงินยังผันผวนและภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทางออกของอุตสาหกรรมอาหารรวมไปถึงภาคการเกษตรของไทย ก็คือต้องคอยมองหาช่องวางที่เกิดจากสงครามการค้า แล้วฉวยโอกาสเอาไว้ด้วยผลผลิตที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าประเทศอื่น ๆ ก็กำลังตั้งรับและพร้อมแข่งขันในโอกาสนี้อยู่ อย่างเช่นเวียดนามที่อยู่ใกล้จีนและมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะกลายมาเป็นคู่ค้าที่สำคัญของจีนในอนาคต ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งพัฒนาตนเองด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ก่อนที่จะถูกแซงหน้า และอาจจะเข้าไปเล่นในตลาดพรีเมี่ยมที่อยู่อีกระดับให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะผู้บริโภคมีปัจจัยในการบริโภคอยู่อย่างพอเพียง”


ด้านเทรนด์อาหารที่มีการทำข้อมูลอยู่ทุกปีของ Fi Asia ระบุว่าเทรนด์อาหารของปี 2020 คือ
  -โปรตีนแทนเนื้อสัตว์และโปรตีนสายพันธุ์ใหม่ ที่มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 6,725 ล้านบาท และมีแนวโน้มขยายตัว 6.4% ตามความนิยมบริโภคอาหารโปรตีนสูงเพื่อสร้างสมดุลทางโภชนาการทดแทนเนื้อสัตว์ โดยมี Plant Based Food หรือเนื้อไร้เนื้อเป็นดาวรุ่งของเทรนด์นี้
  -ลดน้ำตาล เพิ่มความหวานที่ดีต่อสุขภาพ การเปลี่ยนโครงสร้างอนุภาคของน้ำตาล เพื่อให้ละลายบนลิ้นได้เร็วกว่าเดิม ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับรสชาติความหวานเท่าเดิม อาหารมีรสชาติเหมือนเดิม 100% แต่สามารถลดน้ำตาลในการผลิตได้มากถึง 40%
  -อาหารพร้อมทานเพื่อสุขภาพ โดยคำนึงถึงปัจจัย 5 ประการ คือ มีปริมาณน้ำตาลน้อย ไขมันอิ่มตัวต่ำ ไขมันรวมต่ำ มีใยอาหาร และมีโปรตีนในปริมาณที่เพียงพอ โดยมีการคาดการณ์ว่าตลาดอาหารพร้อมทานเพื่อสุขภาพของโลกจะมีมูลค่าประมาณ 10,551 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564
  -อาหารสำหรับผู้สูงอายุและโภชนาการแบบเฉพาะบุคคล การเป็นสังคมผู้สูงอายุของประชากรโลก ทำให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มต้องให้ความสำคัญกับผู้บริโภคกลุ่มนี้มากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าประเทศไทย ในปี 2565 จะมีผู้สูงวัยอายุ 70 ปี มากถึง 4.6 ล้านคน
  -วัตถุดิบและส่วนผสมจากท้องถิ่น สืบเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือความแปลกใหม่อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มต้องมองหาวัตถุดิบและส่วนผสมที่มีในเฉพาะบางพื้นที่เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรม
  -เครื่องดื่มสีใส แต่งกลิ่น แต่งรส สดชื่น เมื่อตลาดเครื่องดื่มเริ่มอิ่มตัว การสร้างสรรค์สินค้าใหม่จึงเป็นอีกทางออกที่สร้างมูลค่าได้อย่างน่าสนใจ โดย Water Plus เครื่องดื่มสีใส แต่งกลิ่น แต่งรส และให้ความสดชื่น เกิดขึ้นมาเพื่อทำตลาดใหม่ หลังจากที่ตลาดเดิมอย่างน้ำอัดลมกำลังถึงจุดอิ่มตัว
  -ดื่มเพื่อสุขภาพ จากปัจจัยที่ผู้บริโภคเครื่องดื่มกำลังมองหาสินค้าที่มีน้ำตาลน้อยไปจนถึงไม่มีน้ำตาล แต่รสชาติอร่อยไปพร้อม ๆ กับเป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจึงถูกคิดค้นขึ้นมากมายในยุคสมัยนี้ โดยเพิ่มส่วนผสมเพื่อบำรุงสมอง เสริมการทำงานของลำไส้ และเพิ่มความงาม
  -น้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำมะพร้าว ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของน้ำดื่มบรรจุขวด เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการน้ำดื่มที่สะอาดและมีคุณภาพ โดยมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของ GDP พร้อมปัจจัยหนุนจากอากาศร้อนของปรากฏการณ์ El Nino ทำให้น้ำดื่มบรรจุขวดเป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะน้ำมะพร้าว
  -การแปรรูปแมลง แมลงเป็นอาหารโปรตีนสูงที่สามารถบริโภคทดแทนเนื้อสัตว์ได้ โดยแป้งที่ได้จากการทำแมลงให้เป็นผง 100 กรัม จะให้โปรตีนได้สูงถึง 50% ในขณะที่เนื้อสัตว์อื่น ๆ จะให้โปรตีนที่ 30% เท่านั้น แมลงใช้วัตถุดิบและสร้างมลพิษให้โลกน้อยมาก มูลค่าตลาดของแมลงทานได้อยู่ 12,000 ล้านบาท


ส่วนเทรนด์ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ปี 2020 คือ Food Waste Solutions เพื่อแก้ปัญหาการทิ้งอาหารให้เป็นขยะซึ่งสิ้นเปลืองทรัพยากรในการผลิตเป็นอย่างมาก, AI ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลิตและการจัดการรวมไปถึงสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค, Packaging ที่ต้องคำนึงถึงความสะดวกในการใช้งานและการย่อยสลายตามธรรมชาติ, Bountiful Choice เมื่อแบรนด์ต่าง ๆ ถูกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์และความต้องการของผู้บริโภค นำไปสู่การสร้างสินค้าที่มีความสร้างสรรค์และมีนวัตกรรมที่ตรงกับความต้องการมากยิ่งขึ้น, Rising of Food & Agri-Tech จากการคาดการณ์ว่าประชาการโลกจะเพิ่มเป็น 10,000 ล้านคน เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นจะต้องมีผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอีก 70% ส่งผลให้เทคโนโลยีและงานวิจัยต่าง ๆ จะเข้ามามีบทบาทในการเกษตรมากขึ้น และ Foodie Influencer จากผลสำรวจที่ระบุว่าผู้บริโภคกว่า 58 % บอกว่าโซเชียลมีเดียและรีวิวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ ทำให้เสียงบอกต่อมีพลังมากกว่าโฆษณาชวนเชื่อ บทบาทของ Foodie Influencer จึงมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคช่างเลือกเป็นอย่างมาก


Fi Asia เป็นงานแสดงสินค้าส่วนผสมอาหาร ที่จัดขึ้นในประเทศไทยทุก 2 ปี ทำให้ผู้ประกอบการและผู้ผลิตสินค้าเกษตรมีความตื่นตัวในการนำวัตถุดิบที่มีในประเทศมาแปรรูป เพิ่มนวัตกรรม และเทคโนโลยีให้สินค้าเกิดมูลค่ามากยิ่งขึ้น จากเทรนด์ต่าง ๆ เหล่านี้ ได้มีผู้ประกอบการด้านส่วนผสมอาหารนำสินค้าที่เกี่ยวข้องอยู่ในเทรนด์มาจัดแสดงซึ่งส่วนผสมถือเป็นขั้นตอนเริ่มต้นที่ช่วยเพิ่มความหลากหลายเพื่อตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค โดยนอกจากผู้ประกอบการที่มาร่วมจัดแสดงสินค้าส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มในงานกว่า 750 บริษัททั่วโลก ได้มีพาวิเลี่ยนนานาชาติและแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ จีน ยุโรป ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน ฝรั่งเศส อินเดีย ไทย และ พาวิเลี่ยนส่วนผสมจากธรรมชาติ พาวิเลี่ยนส่วนผสมเพื่อสินค้าสุขภาพ พาวิเลี่ยนส่วนผสมเพื่อเครื่องดื่ม และพาวิเลี่ยนจากผู้ประกอบการใหม่ นอกจากนี้ แล้ว ภายในงานยังมีกิจกรรมที่เสริมสร้างไอเดีย และให้ความรู้ด้านนวัตกรรมแก่ผู้เข้าชมงานอีกมากมาย ทั้ง Innovation Zone, Sensory Box, Innovation Tour, Beverage Theatre และส่วนจัดแสดงสินค้าท้องถิ่นของไทยที่เพิ่มการแปรรูป รวมไปถึงกิจกรรมสัมมนาและการประชุมในหัวข้อ Opportunity in ASEAN Food Industry, Opportunity in Indonesia and Halal Requirements, Unlock your health with snack เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Top Ad

Responsive Ads Here