น้อมรำลึกพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ เนื่องในโอกาสวันสิ้นพระชนม์ครบ 13 ปี วันที่ 2 มค. - Siamtimes.net

Breaking

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Post Top Ad

Responsive Ads Here

นิทรรศการ งานมหกรรม

การสื่อสาร

วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2564

น้อมรำลึกพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ เนื่องในโอกาสวันสิ้นพระชนม์ครบ 13 ปี วันที่ 2 มค.


สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2466 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา) ทรงเป็นสมเด็จพระเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 กับพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และเป็นสมเด็จพระราชปิตุจฉาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10


สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจมากมายเพื่อแบ่งเบาพระราชภาระพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีโครงการในพระอุปถัมภ์หลายร้อยโครงการ ทั้งด้านการศึกษา การสังคมสงเคราะห์ การแพทย์และการสาธารณสุข การต่างประเทศ การศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และอื่นๆ กับทั้งยังมีพระปรีชาสามารถด้านการเขียน การกีฬา และด้านการถ่ายภาพ จนเป็นที่ประจักษ์ชัดในวงการศึกษา มหาวิทยาลัยต่าง ๆ 10 กว่าแห่ง และองค์การระหว่างประเทศจึงถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์และเหรียญสดุดีพระเกียรติคุณแด่พระองค์ และทรงได้รับการเทิดทูนพระเกียรติจากรัฐบาลและองค์กรต่างประเทศหลายแห่งเช่น รัฐบาลฝรั่งเศสและองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ

พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา ทรงก่อตั้งสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทยขึ้นในปี พุทธศักราช 2520 ทรงเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเฉพาะที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พระองค์เป็นพระอาจารย์ประจำนานถึง 8 ปี โดยทรงเป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาต่างประเทศและทรงเป็นผู้ดูแลและจัดทำหลักสูตรการสอนของอาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทรงจัดทำหลักสูตรปริญญาตรีสาขาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสสำเร็จ ด้วยการผสมผสานความรู้ด้านภาษาและวรรณคดีให้เข้ากันอย่างเหมาะสม โดยทรงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น ศาสตราจารย์พิเศษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2521

ทรงเป็นองค์พระอุปถัมภ์ ”มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” (สอวน.) ทำให้บรรดาเยาวชนไทยได้ค้นพบตัวเองและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยติดต่อกันมายาวนานหลายปี ตั้งแต่ปีแรกที่มีการส่งเยาวชนร่วมแข่งขัน พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินกองทุนสมเด็จย่าเพื่อช่วยเหลือ ทรงติดตามความเคลื่อนไหวทุกขั้นตอนการแข่งขัน พระราชทานกำลังใจ และทรงแสดงความยินดีแก่เยาวชนไทยที่ได้รับรางวัลและใบประกาศเกียรติคุณจากการแข่งขันในทุก ๆ ครั้ง

และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับ “กองทุนหมอเจ้าฟ้า” คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไว้ในพระอุปถัมภ์ และพระราชทานเงินจากทุนการกุศลสมเด็จย่า และทุนการศึกษา กว. เพื่อสมทบเข้ากองทุนเป็นประจำทุกปี สำหรับอาจารย์แพทย์ไปศึกษาฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ และส่วนหนึ่งเป็นทุนอุดหนุนการศึกษาจัดสรรให้นักศึกษาที่เรียนดีแต่ขัดสน สำหรับนักศึกษาแพทย์และนักศึกษา 5 คณะในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ คือ คณะทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ และสัตวแพทยศาสตร์

พระราชกรณียกิจด้านการสังคมสงเคราะห์ ทรงอุทิศพระวรกายในการพัฒนาท้องถิ่นชนบทและการศึกษาโดยเฉพาะในพื้นที่ยากจนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงตระหนักถึงปัญหาชุมชนแออัด จึงเสด็จเยี่ยมชุมชนแออัดหลายแห่งในกรุงเทพมหานครเป็นการส่วนพระองค์ ได้แก่ ชุมชนคลองเตย ชุมชนวัดพระยายัง ชุมชนย่านสวนลุมพินี ชุมชนกองขยะซอยอ่อนนุช ชุมชนเพชรเกษม 104 เป็นต้น ทรงห่วงใยเด็กและครอบครัวในชุมชนแออัด โดยทรงรับมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมให้อยู่ในพระอุปถัมภ์ มีผลให้เกิดโครงการพัฒนาเด็กเพิ่มขึ้นหลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาเด็กในชุมชนและโครงการสาธารณสุขมูลฐานสำหรับแม่และเด็ก กองทุนนมและอาหารเสริม และกองทุนงบฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ยากไร้ในชุมชนแออัดให้พ้นสภาวะขาดสารอาหาร นอกจากนั้นยังช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบอัคคีภัย อุบัติภัย และภัยจากเคมี ทั้งยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์องค์กรด้านสังคม ได้แก่ มูลนิธิส่งเสริมสวัสดิภาพสตรีและเยาวชน มูลนิธิพัฒนาเยาวสตรีภาคเหนือ มูลนิธิชีวิตพัฒนา มูลนิธิโลกสีเขียว สโมสรโรตารีกรุงเทพ-บางลำพู เป็นต้น

พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ทรงเป็นประธานของมูลนิธิต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) หรือ หมอกระเป๋าเขียว รวมทั้งมูลนิธิโรคไต และทรงเป็นประธานมูลนิธิหม่อมเจ้าบุญจิราธร (ชุมพล) จุฑาธุช ซึ่งมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการให้ทุนการศึกษาแพทย์ตามโครงการแพทย์ชนบท ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาพยาบาลที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และให้ทุนการศึกษาสำหรับผู้ที่จะสมัครเป็นอาจารย์วิชาการพยาบาล

ทรงดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งทรงร่วมกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีก่อตั้งขึ้นมา โดยทรงลงพระนามขอจดทะเบียนด้วยพระองค์เอง และพระราชทานทรัพย์ประเดิมร่วมกับที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานในการก่อตั้งมูลนิธิขาเทียมฯ เพื่อจัดทำขาเทียมและพระราชทานแก่ผู้พิการขาขาดผู้ยากไร้ในชนบทโดยไม่คิดมูลค่า และค้นคว้า วิจัย พัฒนาชิ้นส่วนขาเทียมจากวัสดุภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ อันเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ในประเทศและลดมูลค่าการขาดดุลการค้าลงด้วย ทรงดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิถันยรักษ์ในพระบรมราชูประถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังได้ทรงรับมูลนิธิและกองทุนการกุศลต่าง ๆ ทางด้านสาธารณสุขไว้ในพระอุปถัมภ์อีกหลายหน่วยงาน ได้แก่ มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย กองทุนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเพื่อพัฒนาการพยาบาล ศิริราชมูลนิธิ มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ มูลนิธิช่วยการสาธารณสุข มูลนิธิส่งเสริมสวัสดิภาพสตรีและเยาวชน มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ มูลนิธิช่วยการสาธารณสุข สมาคมพยาบาลสาธารณสุขไทย มูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลราชานุกูล มูลนิธิสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญา โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ มูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มูลนิธิโรงพยาบาลเลิดสิน ท่านยังมีพระเมตตาโปรดเกล้าฯ ให้คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4 คน ตามเสด็จไปออกหน่วยเคลื่อนที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) เมื่อปี 2545 โดยทรงพระกรุณาให้กลุ่มสัตวแพทย์มีหน้าที่ในการดูแลการเลี้ยงสัตว์และปัญหาโรคสัตว์ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ได้แก่ เชียงราย น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พะเยา และพิษณุโลก

พระราชกรณียกิจด้านการต่างประเทศ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้เสด็จเยือนต่างประเทศทั้งตามคำกราบทูลเชิญเสด็จอย่างเป็นทางการและเสด็จเยือนเป็นการส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ รวมทั้งยังเป็นโอกาสที่ทรงแนะนำให้ชาวไทยรู้จักประเทศในแง่มุมต่าง ๆ อย่างถ่องแท้ด้วย โดยทรงศึกษาข้อมูล ศิลปวัฒนธรรมของประเทศที่จะเสด็จเยือน รวมถึงเรื่องข่าวสารเสด็จเยือนต่างประเทศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ทรงให้ข้อมูลด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับประเทศนั้นกับผู้จัดทำ อีกทั้งทรงตรวจแก้บทโทรทัศน์ด้วยพระองค์เองก่อนการเสนอข่าวทุกครั้งเพื่อความถูกต้อง

พระราชกรณียกิจด้านการศาสนา ทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์การประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับสากล อักษรโรมัน ฉบับแรกของโลก ทั้งยังทรงเป็นองค์ประธานก่อตั้งและองค์ประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในการแปลและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน เพื่อพระราชทานแด่นานาประเทศ ตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2548 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงรับวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ (วัดเขาโคกเผ่น) เป็นวัดในพระองค์ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พุทธศักราช 2550 วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ตั้งอยู่ที่บ้านเขาโคกเผ่น ตำบลทำนบ อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ มีพระกรุณาคุณบริจาคทุนทรัพย์ร่วมทำบุญพื้นที่สร้างเจดีย์ศรีพุทธคยาที่วัดแห่งนี้เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พุทธศักราช 2549 และทรงรับเป็นประธานงานสร้างเจดีย์ศรีพุทธคยา เฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พุทธศักราช 2549 เพื่อเป็นเครื่องหมายของการตรัสรู้ การเกิดและดับ เป็นการสืบสานพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป

นอกจากนี้ ยังทรงเจริญพระศรัทธาปสาทะในพระบวรพุทธศาสนา ทรงพระกรุณาเสด็จไปในการพระราชกุศลตามคำกราบทูลเชิญอยู่มิเคยขาด โดยมิได้ทรงเลือกว่าเป็นวัดที่ใหญ่โตหรือวัดเล็ก มีหรือไม่มีชื่อเสียงแต่ประการใด แม้แต่วัดที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารก็ตาม ดังที่ปรากฏเมื่อครั้งที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะเยาวชนกลุ่มเยาวชนร่มฉัตรน้อมเกล้าฯ อัญเชิญเครื่องพระกฐินส่วนพระองค์ พร้อมตาลปัตรจารึกอักษรพระนามย่อไปทอดถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระสงฆ์ซึ่งจำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ณ อาวาสวิหารวัดเขาแก้ววิเชียร จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2548 เป็นต้น

พระราชกรณียกิจด้านศิลปวัฒนธรรม สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงส่งเสริมงานด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น ดนตรีคลาสสิก ละครอุปรากร ทั้งยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์งานแสดงประจำปีและวงดนตรี เช่น วงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วงดุริยางค์เยาวชนไทย และ ทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิก เป็นต้น โดยเฉพาะทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมภ์ฯ ได้จัดตั้งขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อส่งเสริมดนตรีคลาสสิก สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ตลอดจนพัฒนาวงการดนตรีคลาสสิกของไทยให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ภายใต้พระปณิธาน “พัฒนาพรสวรรค์ สรรค์สร้างคีตกวี ผลิตนักดนตรีสู่สากล” โดยทรงเป็นองค์ประธานและทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ เรียกได้ว่าทรงเป็นแสงสว่างส่องนำทางให้เยาวชนและศิลปินไทยที่มีฝีมือด้านดนตรีก้าวสู่เส้นทางดนตรีคลาสสิกอย่างภาคภูมิ นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการจวบจนถึงปัจจุบันมีนักเรียนทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิกกว่า 70 คนแล้ว

เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษา แม้ว่าจะทรงมีอาการประชวร แต่ก็เสด็จชมการแสดง ”คอนเสิร์ต พระกรุณาธิคุณทุนดนตรีคลาสสิก แสงหนึ่งคือรุ้งงาม” โดย 19 นักเรียนทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมภ์ฯ ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย การแสดงคอนเสิร์ตในครั้งนั้นถือว่าเป็นการรวมตัวครั้งแรกของนักเรียนทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมภ์ฯ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตาที่ได้รับพระราชทานทุนการศึกษาด้านดนตรี

พระองค์มีพระอาการผิดปกติเกี่ยวกับพระนาภี และได้เข้าประทับรักษาพระอาการประชวร ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช จนกระทั่งวันพุธที่ 2 มกราคม พุทธศักราช 2551 พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ และสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 02.54 นาฬิกา สิริพระชนมายุ 84 พรรษา


ตลอดระยะเวลา 84 ปี ที่ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมายแก่ประเทศชาติ ทั้งด้านการแพทย์และการสาธารณสุข การศึกษา การสังคมสงเคราะห์ การต่างประเทศ การศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และอื่นๆ ในฐานะเจ้านายชั้นสูงผู้มีพระกรุณาธิคุณต่อประเทศและประชาชนชาวไทยทั้งชาติมาอย่างต่อเนื่อง ทรงพระคุณแก่บ้านเมืองเป็นอเนกปริยาย เป็นที่ประจักษ์แก่ตาแก่ใจของมหาชนทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Top Ad

Responsive Ads Here