กรมชลประทานจัดสื่อสัญจรเร่งแผนสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะดวงใหญ่ อันเนื่องจากพระราชดำริ รับการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ - Siamtimes.net

Breaking

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Post Top Ad

Responsive Ads Here

นิทรรศการ งานมหกรรม

การสื่อสาร

วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564

กรมชลประทานจัดสื่อสัญจรเร่งแผนสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะดวงใหญ่ อันเนื่องจากพระราชดำริ รับการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์


กรมชลประทานจัดสื่อสัญจร เร่งโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำห้วยสะดวงใหญ่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำเร็จตามแผนยุทธศาสตร์ รองรับการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อสร้างความยั่งยื่นให้ภาคเกษตรกรรมอันเป็นหัวใจสำคัญของประเทศ


นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดี กรมชลประทาน เปิดเผยว่า
เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและแผนการดำเนินงาน ทางกรมชลประทานจึงได้เร่งแผนโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำห้วยสะดวงใหญ่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบูรณ์ ล่าสุดทางกรมฯ จึงได้จัดกิจกรรมสื่อสัญจร เพื่อตรวจความคืบหน้าของแผนดำเนินการศึกษา อีกทั้งเพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และเพื่อการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลของโครงการแก่สาธารณชน ให้ได้รับทราบอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น


“ช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้เริ่มมีการประชุมปฐมนิเทศเป็นครั้งแรก โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล สถาบันการศึกษา องค์กรภาคประชาชน ผู้นำชุมชน ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการ เข้าร่วมประชุมกว่า 180 คน ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาขอบเขตการดำเนินงานของโครงการ การสร้างความเข้าใจในขั้นตอนการปฏิบัติงานของโครงการในแต่ละส่วน และภารกิจที่กลุ่มเป้าหมายจะต้องดำเนินการร่วมกับกรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษา พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ผู้มีส่วนได้เสีย หน่วยงานราชการ ในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และภาคประชาสังคมในพื้นที่โครงการ เพื่อใช้ประกอบในการวางแผนการดำเนินการศึกษาโครงการต่อไป ซึ่งได้ผลศึกษาเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทางกรมฯ จึงต้องเร่งลงพื้นที่เพื่อตรวจเช็คความก้าวหน้า เพื่อให้ทันกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทางกรมฯ จังได้จัดสื่อสัญจรอีกครั้ง เพื่อเร่งสร้างความเข้าใจให้ภาคประชาชนได้อย่างชัดเจนและตรงประเด็นที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึกของโครงการ เพื่อให้อ่างเก็บน้ำห้วยสะดวงใหญ่ตอบโจทย์ในเชิงอรรถประโยชน์แก่ภาคการเกษตรและประชาชนได้อย่างสูงสุด”


รองอธิบดี กรมชลประทาน กล่าวต่อไปว่า
โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะดวงใหญ่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีต้นกำเนิดจากช่วงปี พ.ศ. 2513 ครั้งนั้นรัฐบาลไทยได้ขอความร่วมมือจากรัฐบาลญี่ปุ่น ให้ช่วยสนับสนุนการศึกษาความเหมาะสมโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักตอนบนซึ่งทำการศึกษาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2524 ครั้นในปี พ.ศ. 2544 ได้มีนายอุทัย สุวรรณราช ประชาชนตำบลตาลเดี่ยว อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ทำหนังสือถึงราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวัง ขอให้กรมชลประทานนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานให้ทางราชการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักตอนบนเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในการเกษตรกรรมและการประกอบอาชีพ จากนั้นในช่วงปี พ.ศ. 2548 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ได้ศึกษาวางโครงการเบื้องต้นโครงการอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำป่าสักตอนบนเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ตามแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สรุปความว่าควรพิจารณาวางโครงการเก็บน้ำตอนบนของลำน้ำสาขาแม่น้ำป่าสักไว้ให้มาก เพื่อใช้ด้านการเกษตรและป้องกันอุทกภัย เนื่องจากน้ำเหนือป่าสักชลสิทธิ์มีมาก ให้พิจารณาจัดเก็บกักให้เหมาะสม ต่อมาในปี พ.ศ. 2563 กรมชลประทานได้มอบหมายให้ บริษัท มหานคร คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เอ็นแคด คอนซัลแตนท์ จำกัด ศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำห้วยสะดวงใหญ่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบูรณ์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 รวมระยะเวลา 540 วัน (18 เดือน)


ทั้งนี้ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะดวงใหญ่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูกในพื้นที่เกษตรกรรม เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับอุปโภค - บริโภค รวมถึงเพื่อบรรเทาความสียหายจากอุทกภัย โดยโครงการตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 1 บ้านท่าอิบุญ ตำบลท่าอิบุญ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีขนาดสันเขื่อนกว้าง 10 เมตร ตัวเขื่อนยาว 220 เมตร ตัวเขื่อนสูง 47 เมตร มีพื้นที่ชลประทานในช่วงฤดูฝนขนาด 8,200 ไร่ และฤดูแล้งจำนวน 2,400 ไร่ มีขนาดความจุที่ระดับน้ำต่ำสุด 1.47 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 13.45 ล้านลูกบาศก์เมตร และความจุที่ระดับน้ำสูงสุด 15.79 ล้านลูกบาศก์เมตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Top Ad

Responsive Ads Here