สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) จัดงานเผยแพร่ผลงานสพภ. ในรูปแบบถ่ายทอดสดออนไลน์ ภายใต้แนวคิด “The Power of Collaboration” พลังแห่งการร่วมมือร่วมใจในการทำงานของ BEDO และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กว่า 30 ชุมชนทั่วประเทศร่วมอวดโฉมผลงานจากผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ที่สามารถสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนระหว่างวันที่ 16 - 18 กันยายน 2564 ผ่านเพจ Facebook : BEDO Thailand
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. (Biodiversity-Based Economy Development Office : BEDO เบโด้) เป็นหนึ่งในหน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะการสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนได้รู้จักความหลากหลายทางชีวภาพและนำทรัพยากรชีวภาพที่มีในชุมชนมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ ซึ่งภารกิจที่ BEDO ดำเนินงานนั้น มีการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆทั้งภายในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอีกหลายภาคส่วน ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญคือให้ประชาชนเห็นความสำคัญของคุณค่าทรัพยากรที่ตนเองหรือในชุมชนมีอยู่ และช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟู ตลอดจนการเก็บรวบรวมจัดทำเป็นฐานข้อมูลด้านทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเพื่อการใช้ประโยชน์ในการวิจัยพัฒนาและต่อยอดในอนาคต
ทั้งนี้จากสถานการณ์ของไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งในประเทศและทั่วโลกต้องหยุดชะงัก ทำให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีความได้เปรียบจากการที่มีความหลากหลายทางชีวภาพในระดับสูงมาก มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่จะทำอย่างไรให้นำสิ่งเรานั้นมาเพิ่มมูลค่าและต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ
ภายในงานครั้งนี้จึงอยากสื่อสารให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยกันร่วมมือนำเอาจุดเด่นของชุมชนเครือข่ายคือทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพที่จะเป็นประโยชน์ในด้านต่างๆ มาต่อยอดเพื่อสร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจที่ยั่งยืนทั้งต่อชุมชนและประเทศชาติต่อไป
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา BEDO มีการส่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนกว่ารวม 107 ชุมชน ในการนำความหลากหลายทางชีวภาพ มาพัฒนาเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีการสร้างการมีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์ ในลักษณะของการส่งเสริมให้ชุมชนปลูกไม้มีค่า ป่าครอบครัว ปัจจุบันมีเครือข่ายกว่า 400 ราย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 4,700 ไร่ มีการดำเนินโครงการธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพระดับชุมชน (Community Biobank) มีการทำบัญชีรายการความหลากหลายทางชีวภาพด้านพืชไว้ได้จำนวน 100,000 รายการ รวมถึงมีการจดคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ความลับทางการค้าและสินค้า GI ต่างๆ รวม 146 รายการ”
ทั้งนี้ “งานเผยแพร่ผลงานสพภ.” แบ่งออกเป็น 4 ธีมย่อย ได้แก่ 1. Power of Community (พลังของชุมชน) 2. Power of MNRE Cooperation (พลังความร่วมมือในเครือข่ายทส.) 3. Power of BioEconomy (พลังในการประกอบธุรกิจให้ยั่งยืน) และ 4. Power of Networking (พลังของเครือข่าย) “ในแต่ละธีมจะนำเสนอเรื่องราวและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับ การจัดทำฐานข้อมูล การสร้างการมีส่วนร่วม นำเสนอกิจกรรมที่สามารถเชื่อมต่อกับภารกิจขององค์กรภาคีต่างๆ การจัดแสดงผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากความหลากหลายทางชีวภาพของวิสาหกิจชุมชน ซึ่งหากสาธารณชน หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ได้รับทราบ และเข้าใจบทบาทของ BEDO ที่ชัดเจนแล้ว จะก่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพในระดับต่างๆ นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ที่มีความเข้มแข็ง ก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้อย่างเต็มภาคภูมิ ขณะเดียวกันสพภ. ก็จะมุ่งมั่นและขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เพื่อเดินหน้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป” ดร.วิจารย์กล่าว
ด้านนางสาวธัญลักษ์ เจริญปรุ กรรมการรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ขอเชิญชวนผู้สนใจ เข้าร่วมงานที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับประเทศในครั้งนี้ ซึ่งกิจกรรมในงานประกอบด้วย กิจกรรมการ LIVE สด รวมถึงไฮไลท์การนำผลิตภัณฑ์ชีวภาพของชุมชนมาจัดแสดงจำนวนกว่า193 รายการ จาก 30 ชุมชนทั่วประเทศ อาทิ น้ำผึ้งลำไย จ.ลำพูน, ผ้าหม้อฮ่อม จ.แพร่, ผ้าย้อมครามสกลนคร, ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม, ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร และยังมีกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ BCG Model สร้างรายได้ เพื่อเศรษฐกิจไทยที่ยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งงานจะจัดขึ้นระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 16 ถึงวันเสาร์ที่ 18 กันยายน 2564 (ระยะเวลารวม 3 วัน) ผ่านในรูปแบบถ่ายทอดสดออนไลน์บนเพจ Facebook : BEDO Thailand”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น