วช. หนุน พระจอมเกล้าธนบุรี พัฒนาแนวทางสำรวจ ความคุ้มค่าการลงทุนธุรกิจพลังงานจากเหมืองบ่อขยะ - Siamtimes.net

Breaking

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Post Top Ad

Responsive Ads Here

นิทรรศการ งานมหกรรม

การสื่อสาร

วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564

วช. หนุน พระจอมเกล้าธนบุรี พัฒนาแนวทางสำรวจ ความคุ้มค่าการลงทุนธุรกิจพลังงานจากเหมืองบ่อขยะ


ในแต่ละปี สังคมไทยสร้างขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายมากกว่า 27.93 ล้านตันต่อปี ประเมินกันว่ามีเพียงร้้อยละ 26 หรือประมาณ 10.85 ล้านตัน ที่ถูกกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการโดยมีบางส่วนถูกนำไปแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่ไม่ได้รับการจัดการ หรือถูกทิ้งกองเป็นขยะมูลฝอยตกค้างซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย เช่น ไฟไหม้บ่อขยะ ปัญหาเรื่องกลิ่น สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ในขณะที่พื้นที่ที่จะใช้ในการฝังกลบขยะกลับหายากขึ้นเพราะถูกต่อต้านจากชุมชน ขยะมูลฝอยจึงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่รอการแก้ไขอย่างเร่งด่วน


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า
ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยได้เปลี่ยนแปลงไป โดยมองว่าขยะมูลฝอยสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ และสามารถเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ “เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ในการหมุนเวียนนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่เพื่อลดปริมาณขยะ เพื่อให้เกิดการจัดการขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การพัฒนาศักยภาพการผลิตพลังงานจากธุรกิจเหมืองบ่อขยะ” แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมี ผศ.ดร.คมศิลป์ วังยาว บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าโครงการ


ผศ.ดร.คมศิลป์ วังยาว บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดเผยว่า
ในกองขยะมูลฝอยที่ถูกนำมาฝังกลบจะมีทั้งส่วนที่สามารถย่อยสลายได้และย่อยสลายไม่ได้ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ส่วนที่ย่อยสลายได้ (เศษอาหาร และอินทรีย์สารต่าง ๆ) ที่มีประมาณร้อยละ 50 จะถูกย่อยสลายกลายเป็นวัสดุคล้ายดิน ซึ่งสามารถคัดแยกแล้วนำไปใช้ทดแทนดินเพื่อปิดกลบทับขยะได้ ผลจากการย่อยสลายขยะส่วนที่ย่อยสลายได้ จะเกิดเป็นก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สำหรับขยะมูลฝอยที่ถูกฝังกลบอีกประมาณร้อยละ 50 เป็นขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ มักเป็นถุงพลาสติกชนิดต่างๆ ซึ่งวัสดุเหล่านี้ภาคเอกชนสนใจที่จะมาลงทุนขุดรื้อร่อนเพื่อนำไปขายเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel, RDF) “โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตพลังงานจากธุรกิจเหมืองบ่อขยะ” จึงได้พัฒนาแนวทางการประเมิน RDF ที่สามารถรื้อร่อนได้ โดยใช้เทคนิคการตรวจวัดแบบผสมผสาน ประกอบด้วย การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านธรณีฟิสิกส์ในการประเมินองค์ประกอบขยะ การตรวจวัดค่าความร้อนจากผิวกองขยะด้วยกล้องถ่ายภาพความร้อนติดตั้งบน UAV และการตรวจวัดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนด้วย Laser Methane Detector เพื่อประเมินสภาพการย่อยสลายของขยะ รวมถึงการนำเทคนิคการสร้างแผนที่ความละเอียดสูงด้วยภาพถ่ายที่ได้จาก UAV มาใช้ประเมินปริมาตรของขยะ ด้วยการใช้เทคโนโลยีแบบผสมผสานทำให้ได้ข้อมูลศักยภาพการพัฒนาโครงการลงทุนที่มีความแม่นยำสูง สามารถนำไปประกอบการตัดสินใจว่ากองขยะที่ถูกฝังกลบมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนเพื่อผลิตเป็นพลังงานหรือไม่ ผลจากการสำรวจทำให้ได้ข้อมูลมาจำนวนหนึ่ง และเมื่อนำมาคำนวณด้วยสมการที่คิดขึ้นมาจะทำให้ทราบว่ากองขยะแต่ละแห่งมีปริมาณ RDF อยู่เท่าไร และจากข้อมูลทั้งค่าความชื้น ค่าความร้อน ค่าสภาพต้านทานไฟฟ้า ฯ ที่ได้จากการสำรวจเป็นหมื่น ๆ จุดจากกองขยะแต่ละแห่ง สามารถนำมาขึ้นรูปเป็นรูปตัดที่สามารถระบุพิกัดได้ว่าแต่ละจุดมีปริมาณขยะพลาสติกอยู่เท่าไร พื้นที่ตรงไหนมีน้อย พื้นที่ตรงไหนมีมากพอที่จะลงทุนขุดรื้อร่อนได้ ดังนั้น ข้อมูลที่ได้มาจึงสามารถบอกได้ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพว่าในบ่อขยะแต่ละแห่งมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนในการขุดรื้อร่อนขยะพลาสติกเพื่อนำมาขายเป็นเชื้อเพลิงขยะหรือไม่ ลักษณะทางกายภาพของบ่อขยะแต่ละแห่งเป็นอย่างไร มีศักยภาพในการขุดรื้อร่อนขยะอย่างไร บางแห่งอาจจะเหมาะสมสำหรับการขุดรื้อร่อนเพื่อนำขยะพลาสติกไปขายเป็นเชื้อเพลิงขยะ แต่บ่อขยะบางแห่งลักษณะทางกายภาพไม่เหมาะสมสำหรับการขุดร่อนรื้อขยะ แต่เหมาะสมสำหรับการรวบรวมก๊าซขยะ (Landfill Gas, LFG) ขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ด้านพลังงาน โดยพบว่า บ่อขยะหลาย ๆ แห่ง ก็มีปริมาณก๊าซขยะมากพอที่จะทำโรงไฟฟ้าขนาดเล็กได้

ดังนั้น ข้อมูลและแนวทางการดำเนินงานที่ได้จากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการสำรวจบ่อขยะทั้งที่เป็นบ่อขยะแบบเทกองกลางแจ้ง (Open Dump) และบ่อที่มีการฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล (Sanitary Landfill) เพื่อประเมินศักยภาพของบ่อขยะแต่ละแห่งทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพ ตลอดจนความคุ้มค่าในการลงทุนเพื่อพัฒนาการผลิตพลังงานจากธุรกิจเหมืองบ่อขยะ เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจให้กับผู้ประกอบการ และเป็นแนวทางในการพิจารณาสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ต่อไป

จากการศึกษาวิจัยทำให้ได้ข้อมูลเพื่อพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการลงทุนทำธุรกิจพลังงานจากเหมืองบ่อขยะ ดังนี้ 
 1) บ่อขยะที่มีอยู่ในประเทศไทยที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจมีเยอะมาก เพราะส่วนมากเป็นบ่อขนาดใหญ่ 
 2) เนื่องจากบ่อขยะที่สำรวจวิจัยมีทั้งบ่อที่เป็นแบบเก่า ทั้งแบบเทกองกลางแจ้ง และบ่อที่มีการฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล แต่ละแบบมีศักยภาพในการทำธุรกิจได้ทั้งหมด ไม่ได้ขึ้นกับระยะเวลาในการฝังกลบ เพียงแต่ก่อนเริ่มทำเราต้องสำรวจพื้นที่ก่อนทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ 
 3) ปริมาณขยะพลาสติกที่สามารถนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงขยะควรมีปริมาณอย่างต่ำ 200,000 -300,000 ตัน 
 4) ระยะทางระหว่างบ่อขยะไปถึงลูกค้าปลายทางที่ใช้เชื้อเพลิงขยะไม่ควรเกิน 400 กิโลเมตร 
 5) บ่อที่มีความเหมาะสมในการรวบรวมก๊าซขยะ ควรเป็นบ่อขยะที่มีอายุการฝังกลบมาแล้ว 3-5 ปี เพราะขยะยัังมีการย่อยสลายอยู่ 

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระบบการระบายน้ำชะมูลฝอยในบ่อขยะว่าดีมากน้อยเพียงไร ซึ่งการสำรวจด้วยเทคโนโลยีด้านธรณีฟิสิกส์ก็สามารถให้คำตอบได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Top Ad

Responsive Ads Here