NT ชูศักยภาพแกร่งหลังควบรวมกิจการ - Siamtimes.net

Breaking

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Post Top Ad

Responsive Ads Here

นิทรรศการ งานมหกรรม

การสื่อสาร

วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2564

NT ชูศักยภาพแกร่งหลังควบรวมกิจการ


ผ่านมา3 ไตรมาส หลังจากมีการควบรวมกิจการอย่างเป็นทางการระหว่าง บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT (National Telecom Public Company Limited) เร่งบูรณาการทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโทรคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรบุคคลที่เปี่ยมประสิทธิภาพและประสบการณ์ด้านดิจิทัลและศักยภาพ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ (Organizational Transformation) ท่ามกลางความท้าทายรูปแบบใหม่จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค ภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น และผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)


กระบวนการควบรวมองค์กรขนาดใหญ่ ต้องอาศัยเวลาและการขับเคลื่อนในการดำเนินการในการหลอมรวมสองหน่วยงานในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการ การลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน การใช้ทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน การกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจ ตลอดจนการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการยกระดับหน่วยงานภาครัฐด้านโทรคมนาคมสื่อสารให้มีความแข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นกลไกหลักสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 และผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub)


จากการผนึกกำลังกันของสององค์กร ส่งผลให้ NT กลายเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีโครงข่ายโทรคมนาคมที่ครบวงจรมากที่สุด โดยมีทรัพยากรหลัก ไม่ว่าจะเป็น เสาโทรคมนาคมทั่วประเทศ กว่า 25,000 ต้น เคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศที่สามารถเชื่อมต่อไปยังทุกทวีปทั่วโลก ท่อร้อยสายใต้ดินกว่า 4,000 กิโลเมตร สายเคเบิลใยแก้วนำแสงจำนวน 4 ล้านคอร์กิโลเมตร ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ โดยมีจำนวน 13 แห่งให้บริการครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ คลื่น 5G ที่ให้บริการ 6 ย่านความถี่ ปริมาณรวม 600 MHz และระบบโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงมั่นใจว่า NT มีศักยภาพพร้อมในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริการ และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และโทรคมนาคม โดยได้วางโครงสร้างธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจหลัก อาทิ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโทรคมนาคม ธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจบรอดแบนด์ ธุรกิจสื่อสาร ไร้สาย และธุรกิจดิจิทัล

ปัจจุบัน NT เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโครงข่ายสื่อสารข้อมูลส่วนบุคคลความเร็วสูงรายใหญ่ในประเทศไทย ที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโทรคมนาคมรวมถึงระบบโครงข่ายครอบคลุมมากที่สุด การดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา NT เร่งเดินหน้าบูรณาการทรัพย์สินร่วมกัน โดยเฉพาะโครงข่ายบรอดแบนด์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็น สายไฟเบอร์ออฟติก อุปกรณ์โครงข่าย ทีมช่าง ตลอดจนศูนย์บริการลูกค้า โดยริเริ่ม“ราชบุรีโมเดล”ภายใต้โครงการ Dual Network Solution ซึ่งเป็นการรวม 2 บริการบรอดแบนด์ให้เป็นหนึ่งเดียวตั้งแต่ต้นถึงปลายน้ำ ช่วยเพิ่มฐานลูกค้า ลดความซ้ำซ้อนการลงทุน และมีประสิทธิภาพในการบริการดียิ่งขึ้น

คณะทำงานบรอดแบนด์ได้ศึกษารูปแบบโครงข่าย และการให้บริการ รวมถึงเรื่องมาตรฐานด้านโครงข่าย อุปกรณ์ ตลอดจนมาตรฐานงานติดตั้งและการแก้ไขเหตุเสียขัดข้องเพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน และทำให้ลูกค้าใช้งานได้อย่างต่อเนื่องไม่สะดุด “ราชบุรีโมเดล” จึงนับเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมแรกของ NT หลังจากควบรวมกิจการ ซึ่งความสำเร็จในการผสานการทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ทำให้ NT มีความเชื่อมั่นที่จะขยายผลต่อเนื่องไปสู่ศูนย์บริการกว่า 500 แห่งทั่วประเทศโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ NT มีการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีเป็นแผนเดียวกัน ทำงานบน KPI เดียวกัน และมีการนำเสนอขายบริการร่วมกันภายใต้แบรนด์ NT เพื่อเป็นอาวุธสำคัญในการเป็นที่หนึ่งเหนือคู่แข่งในตลาดให้ได้

นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจดิจิทัล NT ยังเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนนโยบายภาครัฐด้านดิจิทัลและโทรคมนาคมเพื่อการพัฒนาประเทศ เช่น โครงการพัฒนาเทศบาลตำบลบ้านฉาง ให้กลายเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นด้วยการสร้างชุมชนปลอดภัย สิ่งแวดล้อมชุมชนยั่งยืน ตลอดจนบริการด้านสาธารณสุขและระบบสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยวในชุมชนด้วยเทคโนโลยี 5G แห่งแรกของประเทศไทย

โครงการพัฒนาบริการคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud service : GDCC) เป็นอีกโครงการใหญ่เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงไปสู่รัฐบาลดิจิทัล (Government Transformation) และการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยบริการคลาวด์ของ NT ยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ (Health Link) ระบบหมอชนะ รวมถึงโครงการ Phuket Sandbox

ในส่วนของการสร้างสรรค์บริการโทรคมนาคมและดิจิทัลที่มีคุณภาพในการให้บริการ NT ไม่ละเลยที่จะสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลและการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม โดยมีการดำเนินงานเพื่อสังคมในกระบวนการทำงานขององค์กร (CSR in process) ผ่านโครงการความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย โครงการ Green NT และโครงการนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ NT ยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการนำศักยภาพองค์กรไปพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อประโยชน์แก่ชุมชน (CSR after process) ผ่านโครงการบริการโทรคมนาคมเพื่อคุณภาพชีวิตของคนไทย การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม สุขศาลาพระราชทาน การสนับสนุนห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” และโครงการเพาะพันธุ์ดี NT Youth Club ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมองค์ความรู้ในการบริหารจัดการการเกษตรอัจฉริยะในรูปแบบ IoT Digital farming อีกทั้งสร้างเมล็ดพันธุ์ที่ดีตั้งแต่ระดับเยาวชนให้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับเทคโนโลยี IoT หรือ Internet of Things และนำความรู้ไปพัฒนาต่อยอดให้กับตนเอง ครอบครัว และชุมชนในยุคดิจิทัลที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมในทุกมิติ NT จึงไม่เพียงแต่มีพันธกิจในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเท่านั้น หากยังมีบทบาทช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีโทรคมนาคมสื่อสารของคนไทยทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ รวมไปถึงการส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและมั่นคงในระยะยาว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Top Ad

Responsive Ads Here