บพข. ชูวัฒนธรรมอาหาร 7 ลุ่มน้ำ สู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน - Siamtimes.net

Breaking

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Post Top Ad

Responsive Ads Here

นิทรรศการ งานมหกรรม

การสื่อสาร

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2565

บพข. ชูวัฒนธรรมอาหาร 7 ลุ่มน้ำ สู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน


จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การดำเนินกิจการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงัก หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย แน่นอนว่าพฤติกรรมการท่องเที่ยวย่อมเปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้การท่องเที่ยวกลับมาเติบโตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยการกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ดำเนินการวิจัยและนำงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอดใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ภายใต้แผนงานบริหารจัดการและบูรณาการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร ใน 7 ลุ่มน้ำ โดยมี ดร.สัญชัย เกียรติทรงชัย เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัย


การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารใน 7 ลุ่มน้ำ
ประกอบด้วย 
    - ลุ่มน้ำหมู่เกาะทะเลใต้ สมุย พะงัน เกาะเต่า เน้นอาหารและภูมิปัญญาอาหารท้องถิ่น ผนวกกับอารมณ์ ศิลปะและความสัมพันธ์ของคนและธรรมชาติ เมนูอาหาร ผัดหมี่หมุย วายคั่ว ขนมโคหัวล้าน 
    - พื้นที่ลุ่มแม่น้ำทะเลสาบสงขลา ชูความโดดเด่นของวัตถุดิบที่เกิดจากคุณลักษณะเชิงพื้นที่ มีรสชาติและการใช้เครื่องเทศ เครื่องปรุงอันเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงเมนูอาหารที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นในการถนอมอาหาร ทั้งการตากแห้ง หมัก ร้า เมนูอาหาร ปลากระบอกต้มน้ำส้มโหนด แกงน้ำเคยยอดหวาย แกงส้มปลากดไหลบัวลูกเถาคัน 
    - พื้นที่ลำปางและพื้นที่เชื่อมโยง (อาหารตามฤดูกาล) เป็นอาหารที่สมดุลทางโภชนาการ ปรุงง่าย ไม่พิถีพิถัน ใช้เนื้อสัตว์ไม่มาก เครื่องปรุงล้วนเป็นสมุนไพรจากธรรมชาติ เน้นใช้วัตถุดิบตามพื้นที่และฤดูกาล เมนูอาหาร ยำปลาแห้ง ข้าวกั้นจิ้น แกงผักหวานป่าใส่ไข่มดแดง 
    - พื้นที่รัตนโกสินทร์ สำรับชาววัง เกิดจากการสร้างสรรค์ผสมผสานและประดิดประดอย มีความประณีต วิจิตร บรรจง ตั้งแต่การสรรหาวัตถุดิบ การปรุง การจัดแต่ง เพื่อง่ายในการกิน และมีความสวยงาม เป็นมรดกตกทอดทางภูมิปัญญาจากตระกูลที่มีความใกล้ชิดกับข้าราชการชั้นสูงและพระบรมวงศานุวงศ์ เมนูอาหาร เมี่ยงคำ ผัดผักเบญจรงค์ ห่อหมกดอกบัวหลวง นอกจากนี้ยังมี สำรับชาวบ้าน เป็นจานอาหารที่เกิดจากการผสมผสานวัฒนธรรมอาหารต่างชาติ เข้ากับอาหารท้องถิ่น เกิดเมนูที่แสดงวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น เช่น ไส้กรอกเลือดของชุมชนชาวมอญ โรตีมะตะบะ ของชาวมุสลิม 
    - พื้นที่อีสานตอนบน เน้นอาหารมงคล เป็นอาหารที่รับประทานแล้วทำให้เกิดความสุขและความเจริญแก่ชีวิต ได้แก่ อาหารที่มีนามมงคล ความหมายมงคล รูปลักษณ์มงคล มีวัตถุดิบที่เป็นมงคล เชื่อมโยงกับพิธีมงคล และมีเรื่องราวมงคล เมนูอาหาร ลาบปลาน้ำโขง ข้าวเม่าโพธิ์ตาก หมกจ้อปลากราย 
    - พื้นที่ฉะเชิงเทรา เป็นเมนูที่สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ โดยรับเอาวัฒนธรรมด้านอาหารของชาติต่าง ๆ มาดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น จนทำให้คนรุ่นหลังแยกไม่ออกว่าอะไรคือขนมที่เป็นไทยแท้ และอะไรดัดแปลงมาจากวัฒนธรรมของชาติอื่น 
    - พื้นที่อยุธยา เมืองท่าตะวันออก อาหารแห่งความทรงจำที่สะท้อนประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง และผสมผสานความหลากหลายทางวัฒนธรรม เช่น แกงกะทิ ที่มาจากชาวฮินดู การผัด การใช้น้ำมันจากจีน ขนมหวานที่ใช้ไข่เป็นส่วนประกอบ ที่ได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตก 


การท่องเที่ยวเชิงอาหารสร้างรายได้มากถึงร้อยละ 20 ของรายได้จากการท่องเที่ยวไทย สะท้อนถึงศักยภาพการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ เนื่องจากตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวที่ต้องการประสบการณ์แปลกใหม่ที่เป็นแก่นแท้ของสถานที่ท่องเที่ยว และยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งการสร้างโอกาสแสดงฝีมือแม่ครัวท้องถิ่น สร้างศักดิ์ศรีแก่วัฒนธรรมอาหารชาวบ้าน บันดาลพลังในการเชิดชูความรู้วิทยาศาสตร์โภชนาการ ทำให้อาหารท้องถิ่นมีความโดดเด่น เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติ จนนำมาสู่รายได้ที่ยั่งยืนในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Top Ad

Responsive Ads Here