ระยอง, วันที่ 10 เมษายน 2566 สำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง ได้รับเกียรติจากนายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เปิดงาน ผู้ว่า...การันตี ทุเรียนดี ทุเรียนอร่อย ต้องทุเรียน Gold Rayong” ณ ฟาร์มรื่นรมย์ ตำบลห้วยยาง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
ระยอง แหล่งผลิตไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะทุเรียนในฤดูกาลผลิต ปี 2566 ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน 2566 คาดการณ์ปริมาณผลผลิตทุเรียน 162,000 ตัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทุเรียนระยองทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการตลาดภายในประเทศ และตลาดส่งต่างประเทศ จึงได้มีการยกระดับมาตรฐานคุณภาพทุเรียนระยองด้วยการเพิ่มเปอร์เซนต์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียน พร้อมส่งเสริมการเก็บเกี่ยวทุเรียนให้ถูกระยะ และถูกต้องที่จะนำสู่ทุเรียนคุณภาพดี
นางวรนุช สีแดง เกษตรจังหวัดระยอง กล่าวรายงานเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการจัดงานในวันนี้ โดยนายวสันต์ รื่นรมย์ เจ้าของฟาร์มรื่นรมย์และในฐานะนายกสมาคมทุเรียนผู้ผลิตไทย บรรยายวิดิทัศน์เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนด้วยการห่อผลด้วยถุงแดงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต (Magik Growth) และการยกระดับคุณภาพทุเรียนด้วยการตัดแก่ เปอร์เซนต์น้ำหนักเนื้อแห้ง 35% สู่การเป็นทุเรียนระยองเกรดพรีเมียม (Gold Rayong)
นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองดำเนินการโครงการยกระดับทุเรียนหมอนทองระยอง เพื่อยกระดับทุเรียนระยองเกรดพรีเมียม แบรนด์ Gold Rayong ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีถุงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Magik Growth) เพื่อเพิ่มคุณภาพและผลผลิตทุเรียน ซึ่งเป็นผลงานวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
จากผลวิจัยพบว่า สามารถเพิ่มน้ำหนักผล 8 – 10% เปลือกทุเรียนบางลง ผิวเปลือกสวย ไม่มีรอยทำลายของโรคและแมลง ปริมาณเนื้อเพิ่มมากขึ้น มีความโดดเด่นเรื่องคุณภาพ สีผล ขนาดผล รูปทรง ปริมาณเนื้อ และมีความปลอดภัยจากสารเคมี เนื่องจากการห่อผลตั้งแต่ระยะขยายผล โดยการเก็บเกี่ยวจะเก็บได้เมื่อเปอร์เซนต์น้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียนมากกว่า 35% จึงการันตีได้ว่า ทุเรียนระยองดีจริง และอร่อยจริง
ในปี 2566 จังหวัดระยองส่งเสริมการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน จำนวน 21 แปลงใหญ่ และได้รับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีถุงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Magik Growth) ร่วมกับการจัดการทุเรียนคุณภาพ จำนวน 10,000 ใบ
โดยจังหวัดระยองได้บรูณาการร่วมกับเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation : EECi) รวบรวมจัดทำทะเบียนรายชื่อเกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนหมอนทอง พรีเมียม และมอบแบรนด์สัญลักษณ์ Gold Rayong เพื่อเป็นการการรันตี รวมถึงประชาสัมพันธ์ทะเบียนรายชื่อเกษตรกร และปริมาณผลผลิตสู่ผู้บริโภคทุกช่องทาง เพื่อให้เกิดการซื้อขายทุเรียนคุณภาพเกรดพรีเมี่ยมที่เกษตรกรรับรองคุณภาพทุกผล สร้างความพึงพอใจแก่ผู้บริโภค เกิดความยั่งยืนทางการตลาด และเป็นแนวทางในการขยายผลที่ส่งผลดีต่อทุเรียนในอนาคตต่อไป
จากนั้นเดินทางต่อไปยัง โรงคัดบรรจุทุเรียนเพื่อการส่งออก บริษัท จี๋เซียง ฟรุ๊ตส์ จำกัด ตำบลทุ่งควายกิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เพื่อเยี่ยมชมการคัดทุเรียน และบรรจุทุเรียนเพื่อการส่งออก โดยมี นายนพดล แดงพวง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระยอง นำบรรยายเกี่ยวกับเทคโนโลยีการสุ่มตรวจสอบวัดเปอร์เซ็นต์เนื้อแห้งทุเรียนเพื่อการส่งออก และนำเยี่ยมชมการตรวจสอบการคัดแยก และบรรจุทุเรียนก่อนปิดตู้ เพื่อทำการส่งออก ตามกิจกรรม “ผู้ว่าการันตี ตรวจแน่ แก่ชัวร์ แป้งถึง จึงปิดตู้”
นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความต้องการของบริโภคทุเรียน โดยเฉพาะประเทศจีน ตลาดส่งออกใหญ่ที่สุด เปิดโอกาสการนำเข้าทุเรียนผลสดจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย “เวียดนาม” จึงกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญของทุเรียนไทย ด้วยราคาที่ถูกกว่าเกือบ 50% เพราะต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ประกอบกับระยะทางขนส่งที่ใกล้กว่า ขนส่งได้สะดวกรวดเร็ว สามารถตัดทุเรียนเปอร์เซ็นต์ความแก่มากกว่าประเทศไทย ทำให้รสชาติที่มีความอร่อย โดดเด่นตามลักษณะของเนื้อทุเรียนแก่ ตรงกับความชื่นชอบของลูกค้าชาวจีน เป็นข้อเสียเปรียบสำคัญของประเทศไทย นอกจากนี้การปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศไทย แม้ว่าตลาดส่งออกยังมีความต้องการ ควรเร่งเพิ่มแนวทางจัดการเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขัน โดยเฉพาะด้านคุณภาพรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของทุเรียน ให้เป็นที่ยอมรับทั้งของคนไทย และตลาดต่างประเทศ
แนวทางจัดการเตรียมการเชิงรุกด้วยการยกระดับมาตรฐานทุเรียนหมอนทองเพื่อการส่งออก ให้มีน้ำหนักเนื้อแห้งขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 35% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานในปัจจุบันที่ใช้อยู่ (มาตรฐาน มกษ 3 – 2556 กำหนดให้ทุเรียนพันธุ์หมอนทองเพื่อการส่งออก มีน้ำหนักเนื้อแห้งขั้นต่ำ ไม่น้อยกว่า 32%) ทั้งนี้ เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดในจีนด้วยคุณภาพให้สูงมากขึ้น
จากนั้น นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และนายนพดล แดงพวง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระยอง ทำการปิดตู้คอนเทนเนอร์ทุเรียนเพื่อการส่งออก ณ โรงคัดบรรจุทุเรียนเพื่อการส่งออกของบริษัท จี๋เซียง ฟรุ๊ตส์ จำกัด เป็นการปิดกิจกรรม “ผู้ว่าการันตี ตรวจแน่ แก่ชัวร์ แป้งถึง จึงปิดตู้”
และนายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ประชาสัมพันธ์การจัดงานเทศกาลผลไม้และของดีจังหวัดระยอง ประจำปี ๒๕๖๖ ระหว่างวันที่ ๓ - ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ณ สนามกีฬากลางจังหวัดระยอง ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ภายในงานประกอบด้วย กิจกรรมการประกวดผลไม้ การออกร้านจำหน่ายผลไม้คุณภาพดีจากเกษตรกร และอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น