หลาย ๆ คน คงเคยมีอาการจุกแน่นลิ้นปี่ แสบร้อน เป็น ๆ หาย ๆ แล้วคิดว่าตัวเองเป็นโรคกระเพาะ กินยารักษามาเป็นปี แต่ไม่ยอมหายสักที จริง ๆ แล้วเป็นอะไรกันแน่ ไม่ใช่มะเร็งใช่มั้ย จะรู้ตัวสายเกินไปหรือไม่
โรคกระเพาะ (dyspepsia) ที่หลาย ๆ คนเข้าใจกัน คือ อาการจุกแน่นไม่สบายท้องในช่องท้องส่วนบน หรือใต้ลิ้นปี่ บางคนอาจจะมีอาการแสบร้อนร่วมด้วย และมักจะสัมพันธ์กับช่วงเวลาอาหาร เช่น ช่วงเวลาท้องว่างหลังตื่นนอน หรือดึก ๆ ก่อนเข้านอนและหลังอาหารในผู้ป่วยบางราย
ในผู้ป่วยที่ไม่ได้มีสัญญาณอันตราย เช่น อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระสีดําผิดปกติ ภาวะซีด กินอาหารได้น้อยกว่าปกติหรืออิ่มเร็วกว่าปกติ นํ้าหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ อาเจียนบ่อยหรือมีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร จะสามารถรักษาเบื้องต้นได้ ด้วยการทานยาลดกรดชนิด PPI เช่น omeprazole, esomeprazole, lansoprazole เป็นต้น เป็นระยะเวลา 4-8 สัปดาห์ (อ้างอิงตาม ‘แนวทางการวินิจฉัยและรักษา dyspepsia ในประเทศไทย พ.ศ. 2561’ โดยสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย)
โดยถ้าอาการจุกแน่นหรือแสบร้อนใต้ลิ้นปี่ไม่ดีขึ้น หลังจากการทานยาเบื้องต้น ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น อัลตร้าซาวด์ช่องท้อง ตรวจ CT scan ส่องกล้องทางเดินอาหาร ตรวจการทำงานของกระเพาะและหลอดอาหาร เป็นต้น ตามดุลพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา ในการวิเคราะห์หาสาเหตุจากโรคอื่น ๆ เพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่ตามมา ซึ่งโรคที่สามารถพบเจอได้ ได้แก่
- โรคที่ไม่รุนแรง ที่สามารถพบได้บ่อย และสามารถรักษาได้ด้วยยา เช่น แผลในกระเพาะอาหาร, กรดไหลย้อน, กระเพาะอาหารติดเชื้อ เป็นต้น
- โรคที่ไม่รุนแรงแต่ต้องได้รับการตรวจรักษาที่เฉพาะเจาะจงหรือการผ่าตัด เช่น นิ่วในถุงน้ำดี ไส้เลื่อนกระบังลม เป็นต้น
- โรคที่รุนแรง เช่น โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร, หลอดอาหาร, ตับ, ตับอ่อน ตับอ่อนอักเสบ โรคหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดแดงโป่งพอง เป็นต้น
เมื่อได้ทำการตรวจวินิจฉัยอื่น ๆ แล้ว และไม่พบความผิดปกติใด ๆ ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระเพาะ โดยจะรักษาด้วยการทานยาลดกรดต่อเนื่อง พร้อมทั้งจำเป็นต้องปรับพฤติกรรมอย่างเคร่งครัด ได้แก่
- งดยาแก้ปวด หรือยาแก้อาการอักเสบที่กัดกระเพาะ เช่น ยา ibuprofen, ponstan, naproxen, aspirin เป็นต้น
- ถ้ามีความจำเป็นจะต้องทานยาที่กัดกระเพาะ เช่น aspirin จะต้องทานยาลดกรดร่วมด้วยเสมอ
- กินอาหารให้ตรงเวลาและงดการกินอาหารระหว่างมื้อ เนื่องจากกระเพาะอาหารจะผลิตน้ำย่อยออกมาเป็นเวลา ถ้ากินอาหารไม่ตรงเวลา จะทำให้น้ำย่อยกัดกระเพาะได้
- หากไม่สามารถกินอาหารตรงเวลาได้ ให้ติดนม หรือขนมไว้กินในเวลาฉุกเฉิน เพื่อลดอาการปวดท้อง
- เลี่ยงอาหารรสจัด เผ็ดจัด และเปรี้ยวจัด บางคนอาจจะทานได้เล็กน้อย แต่ใครที่ยังมีอาการปวดรุนแรง จำเป็นจะต้องงดการกินอาหารรสจัดทุกชนิด
- เลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม แอลกอฮอล์ ชา กาแฟ
- เลิกบุหรี่ นอกจากลดการอักเสบของกระเพาะ ยังลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะและหลอดอาหารด้วย
ผู้สนใจสามารถปรึกษาหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือสอบถามเกี่ยวกับเรื่องของกระเพาะอาหารได้ที่ เพจ Facebook : หมอโจอี้ นพ.ศิรสิทธิ์ เลาหทัย ศัลยแพทย์เฉพาะทางผ่าตัดส่องกล้อง หรือ Line : @dr.sirasit หรือ Website : www.doctorsirasit.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น