อาหารสมดุลเพื่อสุขภาพ สู่ชีวิตที่ดีขึ้นของคนทั่วโลก - Siamtimes.net

Breaking

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Post Top Ad

Responsive Ads Here

นิทรรศการ งานมหกรรม

การสื่อสาร

วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2567

อาหารสมดุลเพื่อสุขภาพ สู่ชีวิตที่ดีขึ้นของคนทั่วโลก


วันที่ 16 ตุลาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันอาหารโลก หรือ World Food Day” โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations) หรือ FAO เพื่อให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของอาหารและการเกษตรทั่วโลก รวมถึงปัญหาความอดอยากหิวโหย อันเกิดจากการจัดการและการกระจายอาหาร ที่มีความเหลื่อมล้ำ เปราะบาง ประชากรโลกไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้



แต่ละปี FAO จะเลือกหัวข้อหลักที่แตกต่างกัน เพื่อมุ่งเน้นการแก้ปัญหาในปีนั้น สำหรับปี 2567 มาภายใต้แนวคิด“สิทธิในอาหารและระบบอาหารที่ยั่งยืน เพื่อการเข้าถึงอาหารสมดุลเพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน “Right to foods for a better life and a better future. Leave no one behind”


นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า
มนุษย์เราผูกพันกับอาหาร สิ่งที่เรารับเข้ามามีผลต่อวิถีชีวิตสุขภาวะ กินน้อยก็ผอม กินมากก็อ้วน กินไม่ถูกก็เกิดผลเสียต่อสุขภาพ พฤติกรรมการกินของเราจะถูกปลูกฝังติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ตอนเด็กชอบกินอะไร โตมาก็จะกินแบบนั้น


อย่างไรก็ตามปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้น ผู้จัดการกองทุน สสส. เชื่อว่า
วันนี้ปัจจัยแวดล้อมด้านอาหารส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของเรา กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพน้อยลง กินอาหารหวานมันเค็ม อาหารแปรรูปมากขึ้น คือปัญหาของ ระบบอาหารที่มีความเปราะบาง เหลื่อมล้ำ และปัจจัยทางการค้าเป็นตัวกำหนดสุขภาพของคนทั่วโลก


ข้อมูลรายงานวิกฤตการณ์อาหารโลก ปี 2567
โดย FAO พบว่าประชากรโลกเกือบ 282 ล้านคน ใน 59 ประเทศ เผชิญปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร ทั้งหิวโหยเฉียบพลันและเข้าไม่ถึงอาหารตามหลักโภชนาการ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี กว่า 36 ล้านคน ขาดสารอาหาร จนเกิดภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งจำนวนกว่า 2 ใน 3 อยู่ในทวีปเอเชีย สำหรับเด็กไทยมีภาวะผอม 5 - 10% แม้อยู่ในระดับปานกลางไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่กลับสะท้อนว่ายังมีกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารตามหลักโภชนาการ และขาดความรู้ ความเข้าใจการบริโภคอาหารที่สมดุลและเหมาะสมตามช่วงวัย


แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. และภาคีเครือข่าย มุ่งสานเสริมพลังความร่วมมือเพื่อสร้างพลเมืองอาหารที่มีความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ปกป้องระบบอาหารที่ยั่งยืน ส่งเสริมระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ในระดับชุมชนท้องถิ่น เพื่อการเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ สร้างความมั่นคงทางอาหารของประชาชน


“ระบบอาหารที่ยั่งยืน คือ ระบบอาหารที่มีความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน และการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดระบบอาหารที่ยั่งยืนขึ้น เพื่อรับมือกับวิกฤตอาหารที่มีความเปราะบางและเหลื่อมล้ำ” ผู้จัดการกองทุน สสส. เชื่อว่า แนวทางดังกล่าว จะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาวิกฤตอาหารได้อย่างยั่งยืน

สสส. มุ่งเป้าหมายส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพอย่างสมดุล เป็น 1 ใน 7 ทิศทางและเป้าหมายระยะ 10 ปี (พ.ศ.2565-2574) ของ สสส. โดยกำหนดขอบเขตการดำเนินงาน 3 ด้าน 1.ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและการผลิตอาหารปลอดภัย 2.สร้างระบบอาหารปลอดภัยและการกระจายอาหารเพื่อสร้างการเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาวะ 3.สนับสนุนการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีความหลากหลาย โดยเน้นให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านอาหาร เพื่อนำไปสู่การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะได้อย่างสมดุล เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีและลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในอนาคต” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว


เช่นเดียวกับ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการ สสส. กล่าวถึงการกินสมดุล “Healthy Balanced Diet” ว่า
ในปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรค NCDs อาหาร เป็นปัจจัยแรกที่นำไปสู่การเกิดโรคดังกล่าว เมื่อก่อนอาจจะพบการขาดสารอาหาร แต่ตอนนี้เราเผชิญกับสถานการณ์ภาวะทุพโภชนาการทั้งขาดและเกิน คนจนในเมืองขาดแคลนอาหารมากกว่าชนบท เพราะมีพื้นที่น้อย บริบทสังคมแต่ละช่วงเวลามีความผันแปร


เราต้องมาจัดการที่ต้นทางของการผลิตอาหาร การแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทยอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก เรามีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่นเดียวกับการป้องกัน NCDs ประเทศไทยจัดอยู่ในประเทศแนวหน้าของโลก

แล้วอะไรที่ สสส. ทำมาอย่างต่อเนื่องในเรื่องการกินอาหารเพื่อสุขภาวะ ดร.นพ.ไพโรจน์ เผยว่า สสส. รณรงค์ส่งเสริมการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างสมดุลตามหลักโภชนาการ โดยสื่อสารสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนให้มีวิถีการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ตามแนวปฏิบัติการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี หรือ ธงโภชนาการ รณรงค์สื่อสารสาธารณะด้วยรหัสเด็ดลดพุงลดโรค 2 1 1 แบ่งจานอาหารออกเป็น 4 ส่วน ข้าว 1 ส่วน เนื้อสัตว์ 1 ส่วน ผัก 2 ส่วน รณรงค์กินผักผลไม้ 400 กรัมต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs ได้ แต่ก็จะเจอปัญหาต่อมาว่าผักปลอดภัยหรือเปล่า เพราะบ้านเราผักปนเปื้อนสารเคมี มาตรการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อาจช่วยลดการปอนเปื้อนได้จำนวนหนึ่ง แต่ก็ต้องมีการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง หรือผู้บริโภคสามารถลดการปนเปื้อนด้วยการล้างผักผลไม้ ก็ช่วยลดการปนเปื้อนสารเคมีลงได้กว่า 80%-90% เช่นเดียวกับการเลือกกินผักผลไม้ตามฤดูกาล การกินผักผลไม้นอกฤดูอาจมีการใช้ปุ๋ยใช้ยาเยอะ นอกจากนี้ สสส. ยังได้รณรงค์สื่อสารสาธารณะ ภายใต้แคมเปญ “ลดหวาน ลดโรค” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ สร้างค่านิยมลดการบริโภคหวานที่ล้นเกิน ขับเคลื่อนนโยบายหวานพอดีที่ 4 กรัม และนโยบายภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล ทำให้มีเครื่องดื่มหวานน้อยออกสู่ตลาดมากขึ้น 35% สนับสนุนหน่วยรับรองฉลากทางเลือกสุขภาพให้กับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เพื่อสร้างทางเลือกการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้กับประชาชน ส่วนเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายลดการบริโภคเค็ม สสส. และภาคีเครือข่ายอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนด้วยเช่นเดียวกัน

“การกินไม่สมดุลจนส่งผลต่อสุขภาวะ เกิดปัญหาโรค NCDs ทั่วโลก นำมาซึ่งความเสียหายทั้งสุขภาพและมูลค่าทางเศรษฐกิจมากมาย” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย


ด้าน ดร.สุชีรา บรรลือสินธุ์ เจ้าหน้าที่วิชาการด้านโรคไม่ติดต่อองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย (WHO) กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs ทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาวหาน มะเร็ง โรคปอดเรื้อรัง และสุขภาพจิต เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของคนไทยกว่า 74% หรือคิดเป็น 4 แสนรายต่อปี มูลค่าความสูญเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย 1.6 ล้านล้านบาท หรือ 9.7% ของ GDP โดยเป็นค่ารักษาพยาบาล 139,300 ล้านบาท

ทั้งนี้ความเปลี่ยนแปลงของระบบอาหารในปัจจุบันส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาวะโภชนาการ โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนยากจน เพราะอาหารที่มีพลังงาน น้ำตาล ไขมัน โซเดียมสูงมีราคาถูกและเข้าถึงง่าย อาหารที่ดีต่อสุขภาพเข้าถึงยาก ราคาแพง วิถีการบริโภคอาหารแปรรูปเพิ่มมากขึ้น มีการทำการตลาดเพื่อกระตุ้นการบริโภค

ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทำให้อาหารที่ดีต่อสุขภาพและโภชนาการเหมาะสมเข้าถึงทุกคนได้อย่างทั่วถึง ด้วยการทำให้ระบบอาหารและโครงสร้างการผลิตมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ปฏิรูปภาคการผลิตให้เพิ่มการผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีความยั่งยืน นโยบายทางการเกษตรและการค้าต้องสร้างแรงจูงใจเพื่อการผลิตอาหารที่มีความหลากหลายและโภชนาการเหมาะสมโดยใช้แนวปฏิบัติที่ยั่งยืน และการลงทุนเพื่อห่วงโซ่การผลิตอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขภาพ โดยนโยบายต่างๆ เช่น มาตรการทางราคาและภาษี มาตรการสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้ประกอบการที่มีการปรับสูตรอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การกำหนดเพดานเพื่อควบคุมปริมาณโซเดียมในอาหาร และการให้ความรู้กับประชาชน เป็นต้น

ผู้แทน WHO กล่าวอีกว่า องค์การอนามัยโลกเสนอมาตรการที่มีประสิทธิภาพ สำหรับภาคการผลิตอาหารเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางอาหารที่ดีและส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ได้แก่ 
   1.Restriction of marketing :การควบคุมการทำการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก 
   2.Food labelling : ฉลากโภชนาการที่ช่วยให้ผู้บริโภคเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ 
   3.Reformulation : การปรับสูตรอาหารและเครื่องดื่ม 
   4.Procurement policy: การจัดซื้อจัดหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพในหน่วยงานรัฐและเอกชน 
   5.Tax and subsidies : ภาษี และการให้เงินสนับสนุนเพื่อการเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

“อาหารที่โภชนาการไม่เหมาะสม ภาวะทุพโภชนาการและ NCDs มีความเกี่ยวข้องกับระบบการผลิต การขาย การทำการตลาด และการบริโภคอาหาร การปฏิรูประบบอาหารเพื่อเพิ่มการผลิต การเข้าถึง และการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพนั้นจำเป็นอย่างยิ่งต่อการจัดการภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรค NCDs และองค์การอนามัยโลก จึงเสนอมาตรการที่มีประสิทธิภาพดังกล่าว เพื่อจัดการกับปัญหาทุพโภชนาการและ NCDs อีกทั้งยังช่วยสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อโลก” ผู้แทน WHO ย้ำถึงแนวทางการชับเคลื่อนตามกระแสโลก

ด้าน รศ.ดร.สิรินทร์ยา พูลเกิด สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนไทย จากการเก็บข้อมูลประชากรกว่า 14,000 ราย โดยเมื่อจำแนกกลุ่มตัวอย่างที่กินอาหารได้ต่ำกว่าเกณฑ์ธงโภชนาการ ใน 6 กลุ่มประเภทอาหาร ได้แก่ ข้าวแป้ง 65.5% กลุ่มผัก 72% กลุ่มผลไม้ 81.3% กลุ่มเนื้อสัตว์ 64% กลุ่มนมจืด/นมพร่องมันเนย 99.9% และการดื่นน้ำเปล่า 58% หากลงลึกไปในรายละเอียดจะพบว่า กลุ่มที่บริโภคต่ำกว่าเกณฑ์ ได้แก่ กลุ่มข้าวแป้ง 62% กลุ่มผัก 72% กลุ่มผลไม้ 65.2% กลุ่มเนื้อสัตว์ 12.6% กลุ่มนมจืด/พร่องมันเนย 96% และกลุ่มน้ำดื่ม 58% ในขณะที่กลุ่มที่บริโภคมากกว่าเกณฑ์ของ 6 กลุ่มประเภทอาหาร ได้แก่ กลุ่มข้าวแป้ง 3.5% กลุ่มผลไม้ 16.1% กลุ่มเนื้อสัตว์ 51.4% กลุ่มนมจืด/พร่องมันเนย 3.9% โดยไม่พบในผักและน้ำดื่ม

ฉะนั้นการสร้างความรอบรู้ด้านอาหารเป็นมากกว่าการกิน ซึ่งจะต้องประกอบด้วย ความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และพฤติกรรม สอดคล้องกับความสัมพันธ์ระหว่างความรอบรู้ด้านอาหารกับวิถีการกินอาหารของคนไทย ที่พบว่า คนที่มีความรอบรู้ด้านอาหารมากขึ้นมีแนวโน้มกินผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และน้ำดื่มได้ตามเกณฑ์มากขึ้น และมีแนวโน้มกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เครื่องดื่มรสหวาน อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมถุงรสเค็ม ลดลง

ทั้งนี้สถาบันวิจจัยประชากรและสังคม เสนอแนะว่า มาตรการส่งเสริมความรอบรู้ด้านอาหารต้องไปไกลกว่าการให้ความรู้ มาตรการส่งเสริมความรอบรู้ต้องทำคู่ไปกับมาตรการสร้างสิ่งแวดล้อมทางอาหาร สถาบันวิชาการอาจต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับปัจจัยของความไม่รอบรู้ ติดตามระดับความรอบรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการของคนไทย และท้ายสุด คือ การนำข้อมูลไปใช้เพื่อการวางแผนการดำเนินงาน และขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมความรอบรู้ด้านอาหารให้กับผู้บริโภค

“ระบบอาหารสมดุลเพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้นย่อมสัมพันธ์กับระบบอาหารที่ยั่งยืน นี่คือโจทย์ที่ทุกภาคส่วนจะต้องหันมาจับมือกันขับเคลื่อน เพื่อให้คนไทยมีสุขภาวะดี” รศ.ดร.สิรินทร์ยา ย้ำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Top Ad

Responsive Ads Here