ปรับเปลี่ยนการกิน อร่อยเต็มเปี่ยมโซเดียมเต็มคำ เตือนก่อน "ไตพัง" โดย รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม - Siamtimes.net

Breaking

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Post Top Ad

Responsive Ads Here

นิทรรศการ งานมหกรรม

การสื่อสาร

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ปรับเปลี่ยนการกิน อร่อยเต็มเปี่ยมโซเดียมเต็มคำ เตือนก่อน "ไตพัง" โดย รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม


รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า
การกินเค็มหรือการบริโภคโซเดียมในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง ผู้ที่มีค่าไตสูงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคไตและส่งเสริมให้ไตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
"ไต" มีไว้ทำไม "ไต"
เปรียบเสมือนโรงงานบำบัดน้ำเสียภายในร่างกาย มีหน้าที่สำคัญในการกรองเลือด เพื่อกำจัดของเสียต่าง ๆ ที่เกิดจากการเผาผลาญอาหาร เช่น ยูเรีย ครีเอตินิน และสารพิษอื่น ๆ ออกจากร่างกายทางปัสสาวะ นอกจากนี้ ไตยังมีหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกายให้สมดุล ควบคุมความดันโลหิต สร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง และควบคุมระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในร่างกายอีกด้วย หากไตทำงานผิดปกติ จะส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคโลหิตจาง โรคกระดูก และอาจนำไปสู่ภาวะไตวายในที่สุด
"โซเดียม"
กระบวนการทำลายไตในระยะยาว เมื่อบริโภคโซเดียมหรือเกลือในปริมาณที่สูง ไตจะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อขจัดโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกาย การสะสมของโซเดียมในเลือดจะทำให้ร่างกายกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำในหลอดเลือดเพิ่ม ความดันโลหิตสูงขึ้น และสร้างแรงดันในหลอดเลือดของไต ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไตเสื่อมสภาพในระยะยาว นอกจากนี้ การบริโภคโซเดียมมากเกินไปยังส่งผลให้เกิดภาวะต่าง ๆ ที่ทำลายไต เช่น
   ⦁ การอักเสบของเนื้อเยื่อไต เกิดจากโซเดียมสะสมที่กระตุ้นการอักเสบ
   ⦁ ภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะ แรงดันที่เพิ่มขึ้นในหลอดเลือดไตทำให้เกิดการรั่วไหลของโปรตีน
   ⦁ การเกิดนิ่วในไต โซเดียมกระตุ้นการขับแคลเซียมในปัสสาวะ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลึกนิ่วได้
แต่โซเดียมก็ไม่ได้เป็นวายร้ายไปซะทีเดียว ยังถือเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย มีบทบาทสำคัญในการควบคุมสมดุลของน้ำในร่างกาย ช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ และช่วยในการดูดซึมสารอาหารบางชนิด เพียงแต่ควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม


สถิติ "โรคไต" ในไทย 
จากข้อมูลจากกรมอนามัยและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า
   ⦁ ในปี 2565 มีคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังมากกว่า 11.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 8,000,000 คนในปี 2563
   ⦁ ผู้ป่วยที่ต้องล้างไตเพิ่มขึ้นจาก 80,000 คนในปี 2563 เป็น 100,000 คนในปี 2565

ปัจจัยหลักที่นำไปสู่โรคไตเรื้อรังคือโรคเรื้อรังอย่าง เบาหวาน และ ความดันโลหิตสูง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ของผู้ป่วย นอกจากนี้ พฤติกรรมการกินเค็มเกินพอดี เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น คนไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ยวันละ 3,635 มก. ซึ่งสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ระบุไม่ควรเกินวันละ 2,000 มก. หรือประมาณ 1 ช้อนชา

ความหมายของคำว่า "ไตพัง" ความเชื่อที่ว่า "การกินเค็ม" ทำให้ไตวายนั้นเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง "เพียงบางส่วน" การรับประทาน "โซเดียม" ในปริมาณมากเกินไปอย่างต่อเนื่องต่างหาก จะส่งผลให้ไตทำงานหนักขึ้น ทำให้ไตเสื่อมสภาพและเกิดโรคไตเรื้อรังได้ การลดการบริโภคโซเดียมสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น
   ⦁ ลดการใช้เครื่องปรุงรสที่มีโซเดียมสูง เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสปรุงรส รวมถึงอาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง อาหารรสเค็ม
   ⦁ เลือกอาหารสดแทนอาหารแปรรูป เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์สด
   ⦁ อ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้ออาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง
   ⦁ ปรุงอาหารเองเพื่อลดการเติมเกลือและซอสต่าง ๆ หรือลองปรุงรสด้วยสมุนไพรแทนการใช้เครื่องปรุงรสสำเร็จรูป
   ⦁ หลีกเลี่ยงการเติมเกลือเพิ่มในอาหารสำเร็จรูป
   ⦁ ดื่มน้ำให้เพียงพอช่วยในการขับโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกาย
   ⦁ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ช่วยควบคุมน้ำหนัก ลดความดันโลหิต และช่วยให้ไตทำงานได้ดีขึ้น
   ⦁ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอจะช่วยชะลอความเสื่อมของไต
   ⦁ ตรวจสุขภาพเป็นประจำ จะช่วยให้ทราบถึงภาวะสุขภาพของไตและสามารถรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น


หมั่นคอยดูแลและรักษา "โรคไต"
 โรคไตในระยะเริ่มต้นมักไม่มีอาการที่เด่นชัด ทำให้หลายคนอาจมองข้ามและไม่รู้ตัวว่ากำลังเป็นโรคไตอยู่ จนกระทั่งโรคมีความรุนแรงมากขึ้นจึงเริ่มแสดงอาการออกมาอย่างชัดเจน ดังนั้น การสังเกตอาการเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการตรวจพบโรคและเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที อาการเบื้องต้นของโรคไตที่พบบ่อย
   ⦁ ปัสสาวะผิดปกติ เป็นฟอง มีเลือดปน เปลี่ยนสี
   ⦁ ปัสสาวะบ่อยขึ้น หรือปัสสาวะน้อยลง มีอาการปวดแสบปวดร้อนขณะปัสสาวะ
   ⦁ อาการบวมที่เท้า หน้า และข้อเท้า
   ⦁ ความดันโลหิตสูง เพราะไตมีส่วนช่วยในการควบคุมความดันโลหิต หากไตทำงานผิดปกติ ความดันโลหิตอาจสูงขึ้น
   ⦁ รู้สึกเหนื่อยล้า เมื่อไตทำงานผิดปกติ จะไม่สามารถกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย
   ⦁ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นผลจากการสะสมของเสียในร่างกายมากเกินไป
   ⦁ ผิวหนังคัน การสะสมของของเสียในร่างกายอาจทำให้ผิวหนังคัน

เหตุใดจึงควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการเหล่านี้
    - การตรวจพบโรคไตในระยะเริ่มต้น จะช่วยให้สามารถรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและชะลอความรุนแรงของโรคได้
    - ป้องกันภาวะแทรกซ้อน หากปล่อยให้โรคไตเรื้อรังลุกลาม อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และความดันโลหิตสูง
    - รักษาคุณภาพชีวิต การรักษาโรคไตอย่างทันท่วงทีจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ไม่ใช่แค่เค็มที่ทำลาย "ไต"
   ⦁ โรคเบาหวาน เป็นสาเหตุหลักของโรคไตเรื้อรัง
   ⦁ ความดันโลหิตสูงเรื้อรังทำลายหลอดเลือดในไต
   ⦁ โรคทางพันธุกรรม
   ⦁ การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาอาจลุกลามไปยังไต
   ⦁ การใช้ยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงต่อไต
   ⦁ การอุดตันของทางเดินปัสสาวะ เช่น หินในไต หรือเนื้องอก
   ⦁ ภาวะขาดน้ำเรื้อรัง

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่าปล่อยให้ไตพังแล้วต้องมานั่งฟอกไต หลายคนอาจคิดว่า ไตมีตั้ง 2 ข้าง เลยทำให้มองข้ามความสำคัญ แต่รู้หรือไม่ว่า เมื่อเสียไตไปสักข้าง การใช้ชีวิตจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง "การฟอกไต" ไม่ใช่เพียงเรื่องของเวลาและค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว แต่ยังหมายถึงความเจ็บปวด ความเหนื่อยล้า และความรู้สึกโดดเดี่ยวในห้องฟอกไตที่ต้องเผชิญซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่วน "การผ่าตัดเปลี่ยนไต" แม้จะดูเป็นทางรอด แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสได้ไตใหม่ และยังต้องต่อสู้กับความเสี่ยงหลังการผ่าตัดอีกมากมาย ลองคิดถึงการสูญเสียไต 1 ข้างที่อาจมาจากพฤติกรรมเล็ก ๆ เช่น กินเค็มเกินไปหรือดื่มน้ำน้อยในแต่ละวัน สิ่งเหล่านี้ฟังดูธรรมดาแต่สามารถนำไปสู่ความทุกข์ทรมานตลอดชีวิต อย่ารอให้ถึงวันที่คุณต้องนั่งบนเตียงฟอกไตกับคำถามในใจว่า "ทำไมฉันไม่ดูแลตัวเองตั้งแต่แรก" จงเริ่มดูแลไตตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่จะสายเกินไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Top Ad

Responsive Ads Here