ชวนเที่ยวงาน “ภูเขาทอง (วัดสระเกศ)” สืบสานประเพณีห่มผ้าแดง บูชาพระบรมมาสารีริกธาตุ องค์พระเจดีย์บรมบรรพต (ภูเขาทอง) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ นมัสการ ๙ สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ เพื่อความเป็นสิริมงคล - Siamtimes.net

Breaking

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Post Top Ad

Responsive Ads Here

นิทรรศการ งานมหกรรม

การสื่อสาร

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ชวนเที่ยวงาน “ภูเขาทอง (วัดสระเกศ)” สืบสานประเพณีห่มผ้าแดง บูชาพระบรมมาสารีริกธาตุ องค์พระเจดีย์บรมบรรพต (ภูเขาทอง) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ นมัสการ ๙ สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ เพื่อความเป็นสิริมงคล


ประเพณีห่มผ้าแดง”งานภูเขาทอง (วัดสระเกศ)” เป็นพิธีที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ มีความเชื่อว่า การได้ห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์บรมบรรพต จะสร้างอานุภาพแห่งการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายนานาประการ



โดยในปีนี้ งานภูเขาทอง (วันสระเกศ ) จะเริ่มขึ้นใน วันศุกร์ ที่ ๘ เดือน พฤศจิกายน จะสิ้นสุด วันอาทิตย์ ที่ ๑๗ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๗


ประวัติความเป็นมาประเพณีห่มผ้าแดง บูชาพระบรมสารีริกธาตุ
 งานภูเขาทองนี้เป็นประเพณีเก่าแก่มีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีการจัดมานานกว่า ๑๐๐ ปีแล้ว (หยุดจัดงานไป๒ครั้งคือ ประมาณพุทธศักราช๒๔๙๗ ที่ได้บูรณะบรมบรรพต ภูเขาทอง หลังสงครามโลกครั้งที่๒ และงานพระราชพิธีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๙ พุทธศักราช๒๕๕๙-๒๕๖๑)

หลังได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานที่พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ ได้มีการจัดพิธีการห่มผ้าแดงขึ้นทุกปี ในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ จนถึง วันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ตั้งแต่ก่อนจนถึงหลังพิธีลอยกระทง รวม ๑๐ วัน ๑๐ คืน


จากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับมอบพระบรมสารีริกธาตุมาจากประเทศอินเดียแล้วโปรดให้นำมาประดิษฐานไว้บน บรมบรรพต ภูเขาทอง พระองค์รับสั่งให้มีการจัดงานเพื่อทำการเฉลิมฉลอง บูชาพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อชาวพระนคร พระองค์ได้พระราชทานผ้าสีแดงเพื่อมาห่มบูชาพระบรมสารีริกธาตุ อันเป็นธงชัยสัญลักษณ์ของงานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ เนื่องจากในสมัยก่อนภูเขาทองเป็นสถานที่สูงสามารถมองเห็นได้จากที่ห่างไกลไปหลายกิโลเมตร นับว่าเป็นความอัจฉริยภาพของพระองค์ที่ได้นำผ้าสีแดงมาเป็นสัญลักษณ์ของงานนี้


ทำให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลมองเห็นธงสีแดงแล้วเกิดความเข้าใจว่า งานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ วัดภูเขาทอง เริ่มขึ้นแล้ว ก็จะพากันมากราบไหว้สักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุ แม้ในสมัยพุทธกาลก็มีพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุใหญ่บ้างเล็กบ้าง องค์ใหญ่คนก็มองเห็น องค์เล็กคนก็มองไม่เห็น พระโพธิสัตว์ได้นำผ้ามาประดับบูชาพระบรมสารีริกธาตุอันเป็นสัญลักษณ์ว่า ที่ตรงนี้มีพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ทำให้คนที่ผ่านไปมาได้ทราบแล้วมาทำการบูชา นับว่ามีอานิสงส์มากมาย นับเป็นเจตนาที่ดีของบูรพมหากษัตริย์ไทยที่ได้พระราชทานผ้าสีแดงมาเพื่อทำการห่มบูชาพระบรมสารีริกธาตุและคนไทยเชื้อสายจีนหรือคนจีนยังถือว่าสีแดงเป็นสีแห่งความเป็นมงคล ทั้งนี้ความหมายของการห่มผ้าสีแดงให้กับองค์พระบรมสารีริกธาตุ ภูเขาทอง เนื่องจากสีแดงตามความเชื่อโบราณคือสีแห่งความเป็นมงคล


นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่ว่า ผู้ที่เขียนชื่อ และนามสกุล ลงบนผ้าสีแดงแล้วนำผ้านั้นไปห่มบูชาพระบรมสารีริกธาตุก็จะได้รับความเป็นสิริมงคล อีกทั้งยังทำให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตราย เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตมากยิ่งขึ้น เมื่อมาวัดสระเกศ ควรจะไหว้ที่ไหนบ้าง


มาทำความรู้จัก ๙ สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญภายในวัดสระเกศ

   ๑. ลานโพธิ์ลังกา / พระพุทธเจ้าน้อย / ต้นโพธิ์ลังกาพันธุ์พระศรีมหาโพธิ์ / รูปเหมือนสมเด็จ พระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

ลานโพธิ์ลังกา เป็นสถานที่รวม ๓ สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของพระอาราม ประกอบด้วย
    ๑.๑ ต้นโพธิ์ลังกา Bodhi Lanka ต้นโพธิ์ หรือต้นอัสสัตถพฤกษ์ พันธุ์พระศรีมหาโพธิ์ที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอาจารย์ดีและพระอาจารย์เทพ หัวหน้าสมณทูตจากวัดสระเกศซึ่งรัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้ไปสืบพระศาสนาที่ประเทศศรีลังกาเป็นเวลา ๓ ปี เมื่อกลับมาได้นำต้นกล้าซึ่งเป็นหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์จากเมืองอนุราธบุรีมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๓ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกไว้ที่วัดสระเกศหนึ่งต้น อีกสองต้นโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกไว้ที่วัดสุทัศน์และวัดมหาธาตุ พระศรีมหาโพธิ์คงเจริญงอกงามเป็นร่มเงาถึงทุกวันนี้ การที่เราได้แสดงความเคารพ ถวายสักการะต้นโพธิ์ เปรียบเสมือนได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและซึมซับพระธรรมคำสั่งสอนมาสู่ชีวิต เพื่อให้เกิดสันติสุขภายในใจของผู้มีศรัทธาทั้งหลาย ท่ามกลางความสงบร่มเย็นที่ท่านจะสัมผัสได้เมื่ออยู่ใต้ร่มโพธิ์แห่งนี้
    ๑.๒ พระพุทธเจ้าน้อย แสดงถึงความเป็นหนึ่งในโลก ความเป็นยอดคนในโลก และความเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก พระพุทธเจ้าน้อยซึ่งประดิษฐาน ณ ลานโพธิ์ลังกา เป็น ๑ ใน ๓ พระพุทธเจ้าปางประสูติที่หล่อขึ้นเพื่ออัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ลุมพินีวัน ประเทศเนปาล สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า โดยได้อัญเชิญอีก ๑ องค์มาประดิษฐานที่ลานโพธิ์ลังกา ด้านหน้าพระอุโบสถวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงการบูรณะเส้นทางแสวงบุญสู่ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพุทธเจ้า
    ๑.๓ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระมหาเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก หากเอ่ยนามพระสงฆ์ผู้เป็นต้นแบบแห่งสงฆ์ที่พุทธบริษัทปรารถนาจะได้พบเห็น ซึ่งเป็นหนึ่งในทัสนานุตริยะที่เป็นมงคลยิ่ง เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นพระมหาเถระที่ได้รับการกล่าวนามถึงมากที่สุดรูปหนึ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาบนผืนแผ่นดินไทย ทั้งนี้ ก็ด้วยใบหน้าที่เปิดยิ้ม ฉายแววแห่งความเมตตา ทักทายผู้คนทุกชนชั้นที่พบเห็น

นอกจากนั้น เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ยังเป็นผู้ริเริ่มวางรากฐานแนวคิดนำพระพุทธศาสนาก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ และนำพระพุทธศาสนาขจรขจายไปก้องโลก เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ เป็นองค์ปฐมผู้ก่อตั้งสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ทำให้วัดไทยเกิดขึ้นทุกมุมโลก ปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน

• ขอความเป็นหนึ่งขอพระพุทธเจ้าน้อย • ขอวิสัยทัศน์ขอหลวงพ่อสมเด็จฯ • ขอความสำเร็จ ขอต้นพระศรีมหาโพธิ์ •
    ๒. พระประธานประจำพระอุโบสถวัดสระเกศ มีพระนามว่า “พระพุทธมงคลชินสีห์วชิรมุนี” พระพุทธลักษณะของพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิซึ่งไม่ค่อยพบมากนักในงานช่างไทยสมัยเดียวกัน ลักษณะโดยรวมใกล้เคียงกับพระพุทธรูปในสมัยอยุธยา จึงแสดงให้เห็นถึงงานที่สืบต่อมาจากสมัยอยุธยาตอนปลาย ตรงตามประวัติที่กล่าวว่า รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพอกทับพระประธานองค์เดิม ลักษณะดังกล่าวเป็นงานช่างที่ต่างจากงานช่างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งจะมีพระพักตร์อย่างหุ่นอันเป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นในภายหลัง

ลักษณะของพระพุทธรูปประธานประจำพระอุโบสถวัดสระเกศ มีพระพักตร์ค่อนข้างสี่เหลี่ยมแบบอยุธยา ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวสูง พระโอษฐ์กว้างแบบอยุธยา ลักษณะชายสังฆาฏิที่ซ้อนทับกันแบบเดียวกับพระพุทธรูปอยุธยาตอนปลาย ในสมัยของพระเจ้าปราสาททอง มีส่วนที่แตกต่าง คือ ในสมัยรัตนโกสินทร์นิยมทำสังฆาฏิพาดกึ่งกลางพระวรกาย ในขณะที่พระพุทธรูปสมัยอื่น ๆ นั้น ชายสังฆาฏิจะอยู่ทางเบื้องซ้าย

สำหรับฝาผนังภายในพระอุโบสถระหว่างซุ้มหน้าต่างเป็นภาพทศชาติ ด้านบนเป็นภาพเทวดาและท้าวจตุโลกบาล ส่วนด้านหน้าเป็นภาพมารวิชัย ด้านหลังพระประธานเป็นภาพไตรภูมิ คือ ภาพสวรรค์ มนุษย์ และนรก

• ขอความเป็นใหญ่ขอการเริ่มต้นที่ดี ขอหลวงพ่อพระประธาน •
   ๓. พระอัฏฐารส / หลวงพ่อดุสิต มีพระนามเต็มว่า พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร ศิลปะสกุลช่างสมัยสุโขทัยตอนต้น คาดว่า มีอายุร่วม ๗๐๐ ปี เป็นประพุทธรูปยืนที่มีความสูงที่สุดในกรุงเทพมหานคร มีความสูงถึง ๕ วา ๑ ศอก ๑๐ นิ้ว (๒๑ ศอก ๑ นิ้ว) หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ โดยไม่มีการเชื่อมต่อ นับว่าเป็นการหล่อพระพุทธรูปด้วยโลหะที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชนชาติไทย เดิมประดิษฐานอยู่วัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลก วัดประจำพระราชวังจันทน์ ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ต่อมา รัชกาลที่ ๓ โปรด ฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระวิหาร วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันพระอัฏฐารสเป็นพระพุทธรูปหล่อโลหะองค์สุดท้ายของกรุงสุโขทัยที่คงหลงเหลืออยู่

ในวันที่ ๑๕ เมษายนของทุกปี พระวิหารพระอัฏฐารส ยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ บทมหาสมัยสูตร เพื่อทำน้ำพระพุทธมนต์แจกจ่ายให้ประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของวัดสระเกศที่สืบเนื่องมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ จนถึงปัจจุบัน

หลวงพ่อดุสิต มีประวัติว่า เดิมเป็นพระประธานประจำพระอุโบสถวัดดุสิตมาก่อน วัดดุสิตนั้น แต่เดิมตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานพระราชวังดุสิต อยู่ใกล้กันกับวัดแหลมหรือวัดเบญจมบพิตร

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างพระราชวังดุสิตและสวนดุสิต จำต้องขยายบริเวณเกินเนื้อที่วัดทั้งสองวัด จึงทรงพระราชปรารภสร้างวัดชดใช้วัดทั้งสองขึ้นวัดหนึ่ง คือ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แล้วจึงได้โปรด ฯ ให้อัญเชิญพระประธานในพระอุโบสถวัดดุสิตไปประดิษฐานอยู่ในห้องด้านหลังพระวิหารพระอัฏฐารส ซึ่งว่างอยู่ ภายหลังเรียกกันว่า “หลวงพ่อดุสิต” ประดิษฐานอยู่ตลอดมาจนทุกวันนี้

• ขอลูก ขอหลวงพ่อพระอัฏฐารส • ขอความสุขความยุติธรรม ขอหลวงพ่อดุสิต •
   ๔. คัมภีร์โบราณ ๒,๐๐๐ ปี พระธรรมเจดีย์นี้มีการขุดค้นพบในถ้ำเทือกเขาบาบิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน บนเส้นทางสายไหม ซึ่งสมัยพุทธกาล เรียกว่า “แคว้นคันธาระ” อันเป็นแคว้นต้นกำเนิดพระพุทธรูปยุคแรกของโลก โดยพระคัมภีร์ดังกล่าวได้รับการยืนยันว่า เป็นผลงานจารึกของเหล่าพระอรหันตสาวก ในราวพุทธศตวรรษที่ ๖ หรือประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ได้ทำการจารึกลงบนใบลาน เปลือกไม้ หนังสัตว์ และแผ่นทองเหลือง ด้วยอักษร “พราหมีโบราณ” ซึ่งเป็นอักษรที่ใช้ในสมัยพุทธกาลหรือหลังจากนั้นไม่นาน ทั้งนี้ สถาบันอนุรักษ์สเคอเยนแห่งราชอาณาจักรนอร์เวย์ ได้พระคัมภีร์ชุดแรกมาจากผู้ค้าของเก่า ซึ่งถูกลักลอบขนย้ายออกจากหุบเขาบาบิยัน และแตกหักเล็กน้อยไว้ได้ประมาณ ๕,๐๐๐ ชิ้น และชิ้นส่วนเล็ก ๆ อีกประมาณ ๘,๐๐๐ ชิ้น ซึ่งนักโบราณคดี นักภาษาศาสตร์ จากนานาชาติได้ร่วมกันชำระเป็นเวลา ๑๒ ปี จึงทำให้ทราบแน่ชัดว่า พระคัมภีร์โบราณนั้น คือ “พระไตรปิฎก” นั่นเอง

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ สถาบันอนุรักษ์สเคอเยนได้มอบชิ้นส่วนคัมภีร์โบราณ จำนวน ๒ ชิ้น แก่วัดสระเกศ โดยชิ้นส่วนคัมภีร์นี้ทำมาจากใบลาน ความยาวประมาณ ๔ เซ็นติเมตร มีรายละเอียดระบุถึงโพธิสัตว์ปิฎกสูตร ชิ้นส่วน “คัมภีร์โบราณ” เหล่านี้คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าแม้กาลเวลาจะล่วงมาเกิน ๒,๐๐๐ ปี แต่แนวทางการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ายังคงได้รับการรักษาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์และถูกสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันเหมือนครั้งที่พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ ทางวัดได้สร้างพิพิธภัณฑ์จำลองถ้ำบามิยันบริเวณทางขึ้นภูเขาทอง เพื่อประดิษฐานคัมภีร์พระพุทธศาสนาโบราณขึ้นเป็นการเฉพาะ รวมถึงองค์พระพุทธรูปแห่งบามิยัน เพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่เข้าชมได้รู้ถึงที่มาของคัมภีร์พระพุทธศาสนาโบราณด้วย

• ขอความมั่นคง ขอความมั่งคั่ง ขอหลวงพ่อบามิยัน •
   ๕. หลวงพ่อดำ พระพุทธรูปหลวงพ่อดำ เป็นพระปูนปั้นปิดทอง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ฝีมือช่างปั้นยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระพุทธรูปที่สร้างคู่กับพระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) มาแต่ต้น เล่ากันว่าสร้างไว้เพื่อให้เจ้านายและพุทธบริษัททั่วไปที่ไม่สามารถขึ้นไปสักการะด้านบนองค์พระบรมบรรพตได้บูชาที่พระพุทธรูปองค์นี้แทน ส่วนที่เรียกว่า “หลวงพ่อดำ” เพราะแต่เดิมลงรักสีดำไว้แล้วไม่ได้ปิดทอง จึงกลายเป็นพระพุทธรูปสีดำ แต่ภายหลังได้มีการบูรณะปิดทององค์หลวงพ่อและสร้างวิหารใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับที่เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญของวัด จนมีความสวยงามดังที่เห็นในปัจจุบัน

• ขอโชคลาภขอความรัก ขอหลวงพ่อดำ •
   ๖. หลวงพ่อดวงดี มีพระนามเต็มว่า “พระพุทธมงคลบรมบรรพต” เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หรือปางตรัสรู้ มีพุทธลักษณะพุทธศิลป์แห่งพุทธศตวรรษที่ ๒๖ มีความงดงาม โดดเด่น ด้วยศิลปะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หล่อขึ้นจากแผ่นดวงมหาโภคทรัพย์ที่บรรจุอยู่บนยอดพระบรมบรรพต ภูเขาทอง

ถวายพระนามโดย เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และมีบัญชาให้ประดิษฐาน ณ ศาลาสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ

นอกจากนั้น ที่ศาลาหลวงพ่อหลวงดี ยังเป็นที่ประดิษฐานประติมากรรมและรูปหล่อ ตลอดจนจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับประวัติของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) และจิตรกรรมฝาผนังไตรภูมิจักรวาล และจิตรกรรมฝาผนังแสนโกฏิจักรวาล อันวิจิตรงดงาม

มีคติแห่งการสักการะหลวงพ่อดวงดีว่า ผู้ใด ได้สักการะบูชา จะมีดวงชะตาที่ดี เป็นที่รักของมิตรสหาย ปลอดภัยจากอุปสรรคนานาประการ

• ขอดวงชะตาราศีที่ดี ขอหลวงพ่อดวงดี •
   ๗. หลวงพ่อโชคดี มีพระนามเต็มว่า "พระพุทธมงคลสุวรรณบรรพต” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หรือปางชนะมาร ขนาด ๓๙ นิ้ว มีพุทธลักษณะพุทธศิลป์ มีความโดดเด่นด้วยพระเกศมีลักษณะเปลวเพลิง หล่อด้วยเงิน บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีความงดงามด้วยศิลปะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ถวายพระนามโดย เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งนับเป็นพระพุทธรูปองค์สุดท้ายที่เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ เป็นประธานเททองหล่อ และมีบัญชาให้ประดิษฐาน ณ ศาลาสุวรรณบรรพต วัดสระเกศ ด้านหลังพระประธาน มีจิตรกรรมฝาผนังต้นดอกมณฑาทิพย์ ประตููมณฑาทิพย์โปรยฟ้า ประตูพฤกษาภิรมย์ และพญานาค ๔ ตระกูล

มีคติแห่งการสักการะหลวงพ่อโชคดีว่า ผู้ใด ได้สักการะบูชา ย่อมมีแต่ความโชคดี ประสบสมหวังดังใจปรารถนาทุกประการ

• ขอความสมหวัง ขอความมีโชค ขอหลวงพ่อโชคดี •
   ๘. หลวงพ่อโต หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปหล่อ ปิดทอง ในสมัยรัชกาลที่ ๓ หน้าตักกว้าง ๗ ศอก ๑ คืบ ส่วนสูง ๑๐ ศอก นับว่าป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะที่มีขนาดใหญ่และมีความสำคัญมากองค์หนึ่ง เพราะการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ทั่วไปในสมัยก่อนมักจะปั้นด้วยปูนมากกว่า ส่วนที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "หลวงพ่อโต" ก็คงเนื่องจากเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่นั้นเอง

เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ รัชกาลที่ ๓ โปรดให้หล่อประดิษฐานไว้ริมคลองมหานาค ในสมัยเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช อยู่ ญาโณทยมหาเถระ ครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ทรงดำริที่จะนำหลวงพ่อโตเข้ามาประดิษฐานที่เชิงบรมบรรพต (ภูเขาทอง) เพื่อให้เหมาะสมกับที่เป็นปูชนียวัตถุสำคัญซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงสร้าง เมื่อพระราชดำรินี้ได้ทราบถึง ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ และคุณหลวงสัมฤทธิวิศวกรรม (โกศล สุขประยูร) จึงได้สละทรัพย์เป็นค่าก่อสร้างฐานรองรับใหม่ ด้วย ดร.บุญรอด ในสมัยเด็กฟื้นจากความตายได้ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโต ทางครอบครัวจึงมีศรัทธาต่อองค์หลวงพ่อโตนี้มาก ต่อมาทางวัดได้สร้างพระวิหารขึ้นใหม่เพื่อให้เหมาะสมและสะดวกแก่ผู้ที่มาสักการะ

• ขอสุขภาพแข็งแรง ขอหลวงพ่อโต •
   ๙. พระบรมสารีริกธาตุ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๑ มิสเตอร์ วิลเลี่ยม แคลกตัน เปปเป ชาวอังกฤษ ได้ขุดพบอิฐธาตุในพระสถูป ณ ที่ใกล้ตำบลปิปราหวะ ตั้งอยู่ปลายชายแดนเนปาล คือ เมืองกบิลพัสดุ์ มีอักษรเมาริยะที่เก่าแก่จารึกบนผอบเก่าแก่ที่สุดในอินเดีย บอกว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า คือ ส่วนที่กษัตริย์ศากยราช ในกรุงกบิลพัสดุ์ได้รับแบ่งปันในเวลาที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

ขณะนั้นมาเครสเคอสันเป็นอุปราชครองอินเดียอยู่ แต่ก่อนเคยอยู่ที่กรุงเทพ ฯ มีความคุ้นเคยกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ปรารภว่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินที่เป็นพุทธศาสนูปถัมภกอยู่ในโลกเวลานั้น ก็มีแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์เดียว จึงมีความประสงค์จะถวายพระบรมสารีริกธาตุนั้นแด่พระองค์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุมเปรียญ) แต่ครั้งยังเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต เป็นผู้แทนกรุงสยามไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุนั้น และครั้งนั้น ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาในนานาประเทศ คือ ญี่ปุ่น พม่า ลังกา และประเทศไซบีเรีย เป็นต้น ต่างก็ได้ส่งทูตเข้ามาทูลขอพระบรมสารีริกธาตุ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไปตามประสงค์ พระบรมสารีริกธาตุที่เหลือโปรดสร้างพระเจดีย์ทองสัมฤทธิ์เป็นที่บรรจุ แล้วโปรดให้ประกอบพระราชพิธีบรรจุในพระเจดีย์บนยอดพระบรมบรรพต และจัดงานเฉลิมฉลองเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน จนเกิดเป็นที่มาของการจัดงานประเพณีประจำปี “งานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ” หรืองานวัดภูเขาทอง ปรากฏอยู่ถึงปัจจุบัน

• สิ่งใดที่ตั้งใจแล้ว ปรารถนาแล้ว ให้นำความตั้งใจนั้น ความปรารถนานั้น ขึ้นไปอธิษฐานบนยอดภูเขาทอง จักสำเร็จสมมโนรถตามความปรารถนาทุกประการ •


ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่

   - เฟซบุ๊ก : วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
   - พระครูศรีพิสุทธิศาสตร์ : ๐๘๒-๙๕๙-๙๓๕๙
   - พระครูสิทธิสรกิจ : ๐๘๑-๘๕๐-๒๙๙๙
   - พระมหาฤทธิชัย ญาณิทฺธิโก : ๐๘๔-๖๓๕-๑๔๕๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Top Ad

Responsive Ads Here