“สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์” นายก PUBAT นำทีมกรรมการคนรุ่นใหม่ไฟแรง โชว์สุดยอดผลงาน ปฏิวัติวงการหนังสือไทยให้กลับมาคึกคัก ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ซบเซา พร้อมติดอาวุธผู้ประกอบการ ปูทางสู่ตลาดต่างประเทศ - Siamtimes.net

Breaking

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Post Top Ad

Responsive Ads Here

นิทรรศการ งานมหกรรม

การสื่อสาร

วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

“สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์” นายก PUBAT นำทีมกรรมการคนรุ่นใหม่ไฟแรง โชว์สุดยอดผลงาน ปฏิวัติวงการหนังสือไทยให้กลับมาคึกคัก ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ซบเซา พร้อมติดอาวุธผู้ประกอบการ ปูทางสู่ตลาดต่างประเทศ


สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) นำโดย นายสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมฯ พร้อมทีมคณะกรรมการคนรุ่นใหม่มากความสามารถ โชว์สุดยอดผลงานปฏิวัติอุตสาหกรรมหนังสือไทย ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ ติดอาวุธสำนักพิมพ์ สร้างภาพลักษณ์ใหม่ ทันสมัย ยกระดับผู้ประกอบการไทย ขยายโอกาสสู่ตลาดต่างประเทศ พร้อมดันไทยสู่ “ฮับหนังสือโลก”



ในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค วงการหนังสือไทยกลับเติบโตอย่างโดดเด่นภายใต้การนำของ “สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) และคณะกรรมการคนรุ่นใหม่ไฟแรง เปี่ยมล้นด้วยความสามารถ นำพาอุตสาหกรรมหนังสือไทยให้ยืนหยัด ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ สร้างภาพลักษณ์ใหม่ที่ทันสมัย และขยายโอกาสสู่ตลาดต่างประเทศจนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม


“สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดใจถึงภารกิจในการขับเคลื่อน PUBAT ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาว่า
หากถามถึงความสำเร็จในวันนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากผมเพียงคนเดียว แต่เกิดจากการทำงานร่วมกันแบบทีมเวิร์ค ของคณะกรรมการทุกคน ซึ่งต้องยอมรับว่าคณะกรรมการชุดนี้ เป็นผู้ที่มีความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะหลากหลาย ครบเครื่องทุกด้าน โดยกว่า 70% เป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีอายุระหว่าง 30-40 ปี ผนวกกับคณะกรรมการที่มีคุณวุฒิ มีประสบการณ์ ทำให้สามารถสร้างสรรค์และบริหารจัดการจนประสบความสำเร็จในวันนี้


3 ผลงานความสำเร็จที่โดดเด่น (Master Piece)

   1. การยืนหยัดท่ามกลางวิกฤติและการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ความสำเร็จที่โดดเด่นประการแรกคือ ความสามารถในการพาอุตสาหกรรมหนังสือไทยให้ยืนหยัดและเติบโตได้แม้ในภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย “สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์” เล็งเห็นความสำคัญของการปรับตัวและ "ติดอาวุธ" ให้ผู้ประกอบการในวงการหนังสือ ด้วยการจัดอบรมเสริมความรู้หลากหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องการใช้สื่อออนไลน์และแพลตฟอร์มใหม่ๆ ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้จัดอบรมการใช้แพลตฟอร์มต่างๆ เช่น TikTok และแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาเป็นมีเดียพาร์ทเนอร์ ช่วยให้สมาชิกปรับตัวกับการตลาดรูปแบบใหม่ ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีมาก

รวมไปถึงการขยายการจัดงานหนังสือสู่เมืองรอง ซึ่งสมาคมฯ สามารถขยายการจัดงานมหกรรมหนังสือฯ และสัปดาห์หนังสือฯ ไปยังจังหวัดเมืองรองมากขึ้น เช่น นครสวรรค์ จันทบุรี ศรีราชา เป็นต้น เพื่อให้หนังสือคุณภาพเข้าถึงผู้อ่านทั่วประเทศอย่างเท่าเทียม

นอกจากนี้ ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว สมาคมฯ ภายใต้การนำของ “สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์” ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการควบคุมสถานการณ์และความฉับไวในการตัดสินใจ ช่วยให้การจัดงานและกิจกรรมต่างๆ ดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น สร้างกระแส ดึงคนกลับมาร่วมงานได้อย่างล้นหลาม แม้จะอยู่ในภาวะวิกฤติ

   2. Bangkok Rights Fair : ก้าวสำคัญของหนังสือไทยสู่เวทีโลก ความสำเร็จโดดเด่นประการที่สองคือ การผลักดันงาน Bangkok Rights Fair ให้ก้าวสู่ระดับนานาชาติอย่างเต็มรูปแบบ จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ สู่งานที่มีการซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือข้ามชาติอย่างคึกคัก

การจัดงาน Bangkok Rights Fair 2025 ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม มีการซื้อขายลิขสิทธิ์ภายในงานมากถึง 271 คู่ จากผู้เข้าร่วม 135 บริษัท ใน 14 ประเทศ/เขตแดน มียอดการซื้อขายลิขสิทธิ์มากกว่า 68 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ


“สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์” เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงในการนำทัพธุรกิจหนังสือไทยไปสู่ตลาดโลกว่า
สิ่งที่เห็นชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับ 3 ปีก่อน สำหรับบูธหนังสือไทยในงาน Book Exhibition ในต่างประเทศ เดิมทีจะเป็นบูธเล็กๆ แทบไม่มีการตกแต่ง แต่ปีล่าสุดในงาน Book Exhibition ที่ไต้หวัน พบว่า บูธของไทย กลายเป็นหนึ่งในบูธจากต่างประเทศ ที่มีผู้เข้าชมติดอันดับท็อปของงาน สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ปรับเปลี่ยน แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดเลยทีเดียว

ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้ไทยได้รับเกียรติให้เป็น Guest of Honor ในงาน Taipei International Book Exhibition 2026 ซึ่งเป็นการยกระดับความสำคัญของวงการหนังสือไทยในเวทีนานาชาติ โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับ Taipei Book Fair Foundation เพื่อเข้าร่วมงานดังกล่าว โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีสำนักพิมพ์ไทยเข้าร่วมงานจำนวน 30 สำนักพิมพ์ และมีมูลค่าการขายลิขสิทธิ์ประมาณ 15.7 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังลงนามบันทึกความเข้าใจกับ Taiwan Creative Content Agency เพื่อแลกเปลี่ยน Fellowship Program หรือทุนสนับสนุนการเข้าร่วมงานระหว่างสำนักพิมพ์หรือตัวแทนลิขสิทธิ์จากไต้หวันและไทย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้วงการหนังสือไทยได้เติบโตในระดับสากลมากขึ้น


   3. การปรับภาพลักษณ์องค์กรและการสร้างพันธมิตรใหม่ ความสำเร็จประการที่สามคือการปรับภาพลักษณ์ของสมาคมฯ และงานหนังสือให้มีความทันสมัย สร้างการรับรู้ใหม่ในวงกว้าง จากเดิมที่หลายคนอาจไม่รู้จัก สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย หรือ PUBAT มากนัก แต่ปัจจุบัน PUBAT กลายเป็นองค์กรที่มีภาพลักษณ์ทันสมัย เป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังเน้นการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรจากหลากหลายวงการทั้งภาครัฐและเอกชน (Collaboration) เช่น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โก๋แก่ ยืดเปล่า (Yuedpao) รวมถึงพันธมิตรในระดับท้องถิ่น เช่น อินฟลูเอนเซอร์ในชุมชน เพื่อประชาสัมพันธ์งานมหกรรมหนังสือในภูมิภาค การเชิญศิลปินและนักวาดภาพประกอบมาจัดแสดงผลงานในงานหนังสือ เช่น การจัดนิทรรศการศิลปะร่วมกับทีม Bangkok Illustration Fair เพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับองค์กร สมาชิก ผู้อ่าน รวมถึงผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน

การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้งานมหกรรมหนังสือฯ หรืองานสัปดาห์หนังสือฯ ไม่ใช่เป็นเพียงพื้นที่สำหรับซื้อ-ขายหนังสือ แต่ยังเป็นพื้นที่แสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ที่ครอบคลุมระบบนิเวศของวงการหนังสือทั้งหมด ตั้งแต่นักเขียน นักวาดภาพประกอบ สำนักพิมพ์ ไปจนถึงผู้อ่าน

นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในสังคม ผ่านโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ต่างๆ เช่น มูลนิธิหนึ่งอ่านล้านตื่น ใช้รูปแบบการบริจาคแนวใหม่ที่เรียกว่า "Donation Sales" เปิดโอกาสให้ผู้บริจาคได้เลือกหนังสือใหม่ที่จะบริจาคให้กับโรงเรียนหรือหน่วยงานต่างๆ แทนการบริจาคหนังสือเก่าที่อาจไม่ตรงกับความต้องการของผู้รับ การเปิดพื้นที่ให้กับมูลนิธิกระจกเงาในการนำหนังสือมือสองมาจำหน่ายเพื่อหารายได้


วิสัยทัศน์สู่อนาคต : เติบโตไปด้วยกัน
 นายสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมฯ กล่าวว่า
เรามีเป้าหมายที่จะผลักดันอุตสาหกรรมหนังสือไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ภายใต้วิสัยทัศน์ "เติบโตไปด้วยกัน" โดยมีเป้าหมายสำคัญสำหรับอนาคต ดังนี้
   1. การขยายงานหนังสือสู่เมืองรอง : สมาคมฯ มีแผนจะขยายการจัดงานมหกรรมหนังสือไปยังจังหวัดต่างๆ มากขึ้น ไม่เพียงแค่กรุงเทพฯ เท่านั้น เพื่อให้หนังสือคุณภาพเข้าถึงผู้อ่านทั่วประเทศอย่างเท่าเทียม
   2. การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือ : ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางหนังสือของอาเซียนอย่างเต็มตัว ในปี 2569 ศูนย์กลางเอเชีย ภายใน 5 ปี และศูนย์กลางของโลก ภายใน 10 ปี
   3. การสร้างรายได้นอกเหนือจากการซื้อขายลิขสิทธิ์ : สมาคมฯ วางแผนพัฒนาช่องทางรายได้ใหม่ๆ ซึ่งอาจรวมถึงการทำงานร่วมกับสถานทูตและกระทรวงต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านในกลุ่มคนไทยในต่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่เพียงการซื้อ-ขายลิขสิทธิ์หนังสือ เพื่อการแปลเป็นภาษาที่ 2 หรือ 3 เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการนำลิขสิทธิ์ไปต่อยอดเป็นภาพยนตร์ ซีรีย์ หรือเกม เป็นต้น
   4. การสร้างผู้เล่นรายใหม่ในวงการ : จัดอบรมและพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้ที่ต้องการเข้าสู่วงการหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน บรรณาธิการ หรือผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มความหลากหลายและคุณภาพในวงการหนังสือไทย
   5. การขยายโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม : มุ่งพัฒนาโครงการ CSR ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น เช่น กรมราชทัณฑ์ มูลนิธิเด็กด้อยโอกาส และผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงหนังสือคุณภาพอย่างทั่วถึง


นายสุวิช กล่าวว่า
"อุตสาหกรรมหนังสือไม่ได้มีแค่การซื้อขายหนังสือเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาคน ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต" สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการขับเคลื่อนวงการหนังสือไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ภายใต้แกนนำของ “สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) และคณะกรรมการคนรุ่นใหม่ ไฟแรง ที่มีความทันสมัย มากสามารถ มองการณ์ไกล และมีความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของโลกอุตสาหกรรม หนังสือไทยกำลังเดินหน้าสู่การเป็น "ซอฟท์พาวเวอร์" ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประเทศ พร้อมก้าวสู่เวทีโลกอย่างภาคภูมิ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Top Ad

Responsive Ads Here