“ประธานศาลฎีกา” แนะศาลทั่วประเทศ ลดวงเงินประกันช่วงโควิด บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน ด้านโฆษกศาลยุติธรรมเผย ยอดคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ เดือนมิ.ย. ลดลง ย้ำเตือนประชาชนไม่ประมาท ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด - Siamtimes.net

Breaking

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Post Top Ad

Responsive Ads Here

นิทรรศการ งานมหกรรม

การสื่อสาร

วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

“ประธานศาลฎีกา” แนะศาลทั่วประเทศ ลดวงเงินประกันช่วงโควิด บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน ด้านโฆษกศาลยุติธรรมเผย ยอดคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ เดือนมิ.ย. ลดลง ย้ำเตือนประชาชนไม่ประมาท ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด


วันนี้ (1 กรกฎาคม 2563) นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัส COVID – 19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจในวงกว้าง และประชาชนจำนวนมากต้องว่างงานขาดรายได้โดยนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์  ประธานศาลฎีกา เห็นว่าการพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ควรคำนึงถึงผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้ลงนามออกประกาศ “คำแนะนำประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวทางสำหรับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563” ซึ่งหลักสำคัญของการแนะนำ มีดังนี้
  1. ดุลพินิจการพิจารณาอนุญาตปล่อยชั่วคราว (การให้ประกันตัว) ยังคงเป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาโดยแท้
  2. คดีลหุโทษ (ความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ) คดีที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือคดีที่มีโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี ศาลอาจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันด้วยการให้สาบานตัวหรือปฏิญาณตนตามที่กฎหมายกำหนด
  3. คดีที่มีโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่า 10 ปี ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้แต่ต้องมีประกัน ซึ่งการเรียกประกันจะทำได้เมื่อเป็นกรณีจำต้องเรียกหลักประกัน และจะต้องระบุถึงความจำเป็นในการเรียกหลักประกันไว้ในคำสั่งโดยชัดเจน
  4. ส่งเสริมให้มีการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ หรือเงื่อนไขอื่นใดประกอบการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว, ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทาง หรือแต่งตั้งผู้กำกับดูแลแทนการเรียกหลักประกัน
  5. ปรับปรุงวงเงินประกันหรือหลักประกันกรณีศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันหรือมีประกันและหลักประกัน (หลักทรัพย์) โดยลดวงเงินลงกึ่งหนึ่งจากวงเงินที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวหาหรือจำเลยในคดีศาลอาญา พ.ศ. 2548
  6. กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดซ้ำ หรือเป็นผู้ไม่มีที่อยู่ถาวรในประเทศไทย ถือเป็นพฤติการณ์พิเศษในคดีที่อาจใช้วงเงินที่สูงกว่าได้ โดยบัญชีมาตรฐานวงเงินประกันสำหรับแนวทางการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยมีรายละเอียดดังนี้ https://opsc.coj.go.th/th/content/category/detail/id/8/cid/1145/iid/199035


นอกจากนี้ โฆษกศาลยุติธรรม ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงข้อมูลสถิติคดีความผิดตามพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 ซึ่งศูนย์ข้อมูลคดี สำนักแผนงานและงบประมาณ สำนักงานศาลยุติธรรม ได้รวบรวมสถิติคดีดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องภายหลังรัฐบาลออกประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ฯ ว่า ภาพรวมสถิติคดีสะสมตั้งแต่วันที่ 1 - 30 มิถุนายน 2563 มีจำนวนคดีที่เข้าสู่การพิจารณาในกลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง ทั้งหมด 5,640 คดี พิพากษาแล้วเสร็จ ทั้งหมด 5,389 คดี คิดเป็นร้อยละ95.55 จำนวนจำเลยที่ขึ้นสู่การพิจารณาทั้งหมด 10,292 คน ข้อหาที่มีการกระทำความผิดสูงสุด คือฝ่าฝืนพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ฯ จำนวน 9,851 คน ส่วนจังหวัดที่มีผู้กระทำความผิดสูงสุดในการฝ่าฝืนพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ฯ คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 965 คน ส่วนในกลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัว มีจำนวนคำร้องที่ขอตรวจสอบการจับ รวมทั้งสิ้น 198 คำร้อง จำนวนเยาวชนที่เข้าสู่การตรวจจับที่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด 226 คน ข้อหาที่เข้าสู่การตรวจสอบจับกุม สูงสุด คือ ฝืนพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ฯ จำนวน 215 คน

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า ภายหลังที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID – 19 (ศบค.) มีการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 4 ประกอบกับมีการยกเลิกเคอร์ฟิว ตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของวันที่ 14 มิถุนายน 2563 เป็นต้นมา หากนำสถิติเดือนพฤษภาคม และเดือนมิถุนายนมาเปรียบเทียบกัน พบว่า สถิติคดีในกลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวงในเดือนมิถุนายนมีปริมาณคดีที่เข้าสู่การพิจารณาลดลงจากเดือนพฤษภาคม จำนวน 9,087 คดี

ขณะที่ในส่วนของกลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัว สถิติการจับกุมในเดือนมิถุนายนลดลงจากเดือนพฤษภาคม จำนวน 587 คดี อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปัจจุบันจะมีการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 5 แล้ว แต่ก็ยังขอให้ประชาชนและผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด สวมหน้ากากอนามัย ก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง เว้นระยะห่างจากผู้อื่น (Social Distancing ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID – 19 เพิ่มขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Top Ad

Responsive Ads Here