หัตถกรรมไทยกับเทรนด์รักษ์โลก... - Siamtimes.net

Breaking

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Post Top Ad

Responsive Ads Here

นิทรรศการ งานมหกรรม

การสื่อสาร

วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

หัตถกรรมไทยกับเทรนด์รักษ์โลก...


เทรนด์รักษ์โลกเป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจมากในปัจจุบัน เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป หลายคนหันมารักษาสุขภาพ เลือกใช้สินค้าที่ปลอดภัย ไร้สารพิษและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจนเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมในวงกว้าง แบรนด์ท้องถิ่นต่างๆจึงมีบทบาทมากขึ้นจนได้รับความสนใจเป็นพิเศษ สามารถที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าขึ้นได้ กลายเป็นเทรนด์ของโลกปัจจุบันและคาดว่าจะเป็นเทรนด์แห่งอนาคตด้วย แบรนด์ท้องถิ่นหรือ Local Brand มักจะมีพื้นฐานมาจากการใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ให้คุณค่ากับการสนับสนุนการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น สร้างนวัตกรรมที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ตรงกับความต้องการของคนยุคนี้ที่ต้องการความปลอดภัย และต้องการอนุรักษ์ธรรมชาติไปพร้อมกัน


เมื่อมุมมองการใช้ชีวิตเปลี่ยนจึงทำให้เกิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่เรียกว่า BCG Model คือการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมทั้ง 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่เศรษฐกิจชีวภาพ(Bio Economy) การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าทรัพยากรในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำน้อยแต่ได้มาก เสริมความมั่นคงด้านรายได้ เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน(Circular Economy) การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการสูญเสีย ใส่ใจเรื่องการ Recycle Zero Waste และการ Upcycle เศรษฐกิจสีเขียว(Green Economy) การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย(สศท.) หรือ SACIT เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ขานรับแนวคิดนี้ มุ่งส่งเสริมให้ช่างฝีมือที่มีภูมิปัญญาและทักษะเชิงช่างในชนบทหันมาพัฒนา ต่อยอดและนำองค์ความรู้ในงานศิลปหัตถกรรม ที่ตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก มาเป็นอาชีพหลักที่สร้างงาน สร้างรายได้ที่มั่นคง ขับเคลื่อนผ่านกลุ่มผู้ผลิตงานหัตถกรรมในชุมชนช่วยกันต่อยอดภูมิปัญญาชาวบ้านและสร้างสรรค์​ให้มีความเป็นสากลมากขึ้น เพื่อตรงตามความต้องการของตลาดในปัจจุบัน ควบคู่สร้างความยั่งยืน เพื่อให้งานศิลปหัตถกรรมไทยอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป


สำหรับอารยธรรมผ้าเขียนเทียนของชาวม้งนั้นเป็นการย้อมผ้าด้วยฮ่อมและการเขียนเทียนลงบนผ้าใยกัญชง เป็นวัฒนธรรมในการนุ่งห่มของชาวม้งมาตั้งแต่โบราณ มีเรื่องเล่าขานกันว่าลายที่เขียนลงบนผ้านั้นเป็นอักขระโบราณของชาวม้ง ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร แต่ลวดลายนั้นก็บ่งบอกความเป็นตัวตนของชาวม้งได้เสมอมา

ขั้นตอนการทำผ้าใยกัญชงเขียนเทียนนั้นยังใช้วิธีดั้งเดิม ตั้งแต่การปลูกกัญชง เก็บเกี่ยว และขั้นตอนการเตรียมเส้นใยที่มีกระบวนการมากกว่า 10 ขั้นตอน ผ่านการทอจนมาถึงการเขียนขี้ผึ้งลงบนผ้าด้วยปากกาทองแดงจุ่มขี้ผึ้งร้อน เมื่อเขียนเสร็จจึงนำไปย้อมเย็นด้วยฮ่อม และนำมาต้มเพื่อลอกเอาขี้ผึ้งออก ทุกอย่างเป็นงานทำมือ 


น่ายินดีที่ลูกหลานชาวม้งหลายคนให้ความสนใจและอนุรักษ์การทำผ้าเขียนเทียนไว้ ทำให้สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนจากภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษมอบไว้เป็นมรดกให้กับลูกหลานอย่างแท้จริง วิสาหกิจชุมชนดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง ตำบล โป่งแยง อำเภอ แม่ริม จังหวัด เชียงใหม่ โดยคุณธัญพร ถนอมวรกุล (ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2564)

อีกท่านคือครูนวลศรี พร้อมใจ ที่ผลิตงานใยกัญชง โดยมีจุดเริ่มต้นการเป็นช่างถักทอตั้งแต่สมัยที่เธอเรียนอยู่ชั้น ป.3 เมื่อได้หัดถักนิตติ้งจากคุณแม่ที่ไปเรียนการถักมาจากมิชชั่นนารีที่มาเผยแผ่ศาสนาในสมัยครั้งที่เมืองเชียงใหม่ยังใช้ทางเกวียน เมื่อกว่า 70 ปีมาแล้ว ครั้งนั้นคุณแม่ของครูนวลศรีต้องจ่ายค่าเรียนเป็นเงิน 200 บาท เทียบกับค่าอาหารในยุคนั้นที่เงินหนึ่งสลึงซื้ออาหารกินได้ก็ถือว่าค่าเรียนแพงมาก


ต่อมาเมื่อว่างจากการทำไร่ ทำนา ครูนวลศรีได้ชักชวนเพื่อน ๆ หันมาถักเส้นใยกัญชง เพราะเห็นว่าตลาดต่างชาติสนใจ โดยเห็นว่า การถักนิตติ้งจากไหมพรมและใยกัญชงนั้นไม่ต่างกัน กลุ่มจึงรังสรรค์งานหัตถกรรมนิตติ้งและโครเชต์จากใยกัญชง ช่วยกันทำตั้งแต่ปีพ.ศ.2544 เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

ครูเรียนรู้วิธีการทำให้ผ้าใยกัญชงให้นิ่ม ใส่สบาย ไม่ระคายผิว ด้วยการนำไปต้ม ทำให้ผู้คนติดใจเสน่ห์ของผ้าใยกัญชงมากขึ้น และผ้ายังมีคุณสมบัติไม่ดูดกลิ่น ไม่ขึ้นรา กันยูวี ใส่แล้วไม่ต้องซักบ่อยๆ มีอายุใช้งานเกิน 10 ปี เป็นงานที่สายรักธรรมชาติติดใจ วิสาหกิจชุมชนผลิตใยกัญชง ทรายทอง อำเภอ แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ คุณ นวลศรี พร้อมใจ (ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2557)


เตยปาหนันเป็นพืชตระกูลเตย
​ พบมากที่ชายหาด​และป่าโกงกาง​ ใบมีลักษณะแข็ง​ มีหนาม​ 3 ด้าน​ เส้นใยมีความทนทาน​ การจักสานเตยปาหนันนั้นบอกเล่าวิถีมุสลิม สันนิษฐาน​ว่าวัฒนธรรมการนำเตยปาหนันมาทำเครื่องสานมาพร้อมกับชาวมุสลิมอพยพ​ ซึ่งสมัยก่อนนำมาสานเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน​ เช่น ภาชนะต่างๆ​ในครัว เสื่อปูนอน​ เสื่อปูละหมาด​ ฯลฯ


หัวใจหลักของการทำจักสานเตยปาหนัน คือ การเตรียมเส้นใย​ซึ่งมีความซับซ้อน​ ใช้เวลานานประมาณ​ 4-5​ วัน​ กว่าจะได้เส้นที่พร้อมใช้ นอกจากนี้เส้นเตยที่ได้จะนิ่มกว่างานจักสานทั่วไปแต่ยังคงคุณสมบัติที่ทนทาน​ ผู้สานจึงตัองใช้ความชำนาญและพิถีพิถัน​ในการสานเพื่อให้งานออกมาแน่น​และเรียบ จุดเด่นของจักสานเตยปาหนันบ้านดุหุนที่ทำให้หลายคนสะดุดตาอยู่ที่การสานไล่สีออกมาได้อย่างสวยงาม​ในโทนคลาสสิก​ ทำให้ถูกใจคนไทยและลูกค้าชาวญี่ปุ่น​ เกาหลีและ​อเมริกา ผลงานที่เห็นนี่เป็นของวิสาหกิจชุมชน ผลิตภัณฑ์​เตยปาหนัน​ บ้านดุหุน​ จ.ตรัง โดยคุณ​จันทร์​เพ็ญ​ ปูเงิน(สมาชิก SACIT)


ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติจากดินแดนคีรีวง 
ที่บ้านคีรีวง ตำบลกำโลน อำเภอ ลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เคยเกิดเหตุดินถล่มจากอุทกภัยครั้งใหญ่ สวนผลไม้ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านและบ้านเรือนถูกทำลาย ชาวบ้านต้องการมีอาชีพเสริมนอกจากการทำสวน จึงเริ่มการทำผ้าย้อมสีธรรมชาติจากต้นไม้ในสวนนานาชนิดที่ตอนนี้นำมาสร้างสรรค์สีได้นับ 10 สี ทั้งจากใบและเปลือกมังคุดที่ให้สีต่างกัน เปลือกเงาะ ฝักสะตอ เปลือกลูกเนียง แก่นไม้หลุมพอ แก่นไม้ขนุน ใบหูกวาง ใบเพกา บวกกับความรู้ด้านการย้อมและทอผ้าจากบรรพบุรุษ มีการใช้เทคนิกที่เรียนรู้ใหม่โดยการใช้ไม้ไผ่ชิ้นเล็ก ๆ มาประกบมัดผ้าเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นลายมัดย้อมที่สวยสะดุดตา ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากคนไทยและคนญี่ปุ่น เป็นการจัดการมรดกทางธรรมชาติที่ช่วยให้ชุมชนและสังคมอยู่ได้อย่างยั่งยืน กลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติ บ้านคีรีวง ตำบล กำโลน จังหวัด นครศรีธรรมราช คุณ อารีย์ ขุนทน (ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2563)

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานศิลปหัตถกรรมไทย สามารถติดต่อได้ที่ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) โทร. 1289 หรือ Facebook: sacitofficial

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Top Ad

Responsive Ads Here