เปิดอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับงานแห่งปี TCF Talk 2022 ภายใต้คอนเซ็ป “Global Citizen เป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น คนไทยต้องเก่งให้จริง แล้วไปยืนบนเวทีโลก” โดยมูลนิธิไทยคม ซึ่งได้นำ 30 บุคคลระดับแนวหน้าจากหลากหลายแวดวงมาถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจส่งเสริมสนับสนุนคนไทยให้ก้าวไกลสู่สากล
ในพิธีเปิด วันที่ 7 ตุลาคม 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมงาน โดย พานทองแท้ ชินวัตร, พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ และ แพทองธาร ชินวัตร กรรมการบริหารมูลนิธิไทยคม ให้การต้อนรับ งานนี้มีเยาวชนและผู้สนใจเข้าร่วมฟังอย่างล้นหลาม
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวบนเวที TCF Talk 2022 ว่า เพื่อสร้าง Global Citizen เมืองจะต้องดีพอ หน้าที่ของเมืองคือ ทำให้คนเปล่งประกาย ต้องสร้าง Trust (ความเชื่อมั่น) ระหว่างประชาชนกับเมือง เริ่มต้นจากให้คนเป็นศูนย์กลาง ผู้นำต้องเข้าใจ เปิดให้มีส่วนร่วม สร้างโอกาสให้ประชาชน รวมทั้งต้องโปร่งใส จึงจะเกิดความร่วมมือ ความเท่าเทียมกัน ความเห็นอกเห็นใจ มีการกระจายอำนาจและความยุติธรรม ความเชื่อมั่นมีความสำคัญ หัวใจของเมืองคือ การสร้างความเชื่อมั่นและแลกเปลี่ยนกันกับประชาชน
อนาคตของเมืองจะอยู่รอดได้ต้องดึงดูดคนเก่งเข้ามาและให้ทำงานด้วยกัน ในขณะที่ทุกประเทศเปิดเพื่อดึงดูดคนเก่งเข้ามา ถ้าในอนาคตประเทศไทยหรือกรุงเทพฯไม่พร้อม คนเก่งก็จะไหลไปหมด ปัจจุบัน กรุงเทพฯเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของโลก แต่มีความน่าอยู่อาศัยต่ำ โจทย์ที่สำคัญในการดึง Global Citizen ของกรุงเทพฯ คือการสร้างเมืองให้น่าอยู่ ผู้นำจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ผู้นำมีความสำคัญที่จะสร้างความไว้วางใจระหว่างประชาชนกับภาครัฐ รัฐที่จะสร้าง Global Citizen ได้จะต้องมีความโปร่งใสรับผิดชอบและให้ประชาชนมีส่วนร่วมต้องสร้างเมืองที่ Empower People ให้คนเป็น Global Citizen ต้องทำให้เมืองดึงคนเก่งให้อยู่ได้
ขณะที่ ชวนล ไคสิริ เจ้าของแบรนด์แฟชั่น-โพเอม ได้แบ่งปันเรื่องราวการออกแบบกับการเป็น Global Citizen ผ่านปรัชญาการออกแบบของเขาและแบรนด์โพเอมว่า ข้อแรกต้องทำให้การสร้างแบรนด์คือ การสร้าง Culture (วัฒนธรรม) จึงจะทำให้ดีไซเนอร์มีตัวตนในวงการแฟชั่น หรือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและความเคลื่อนไหวของสังคมในทุกย่างก้าวให้ได้
ปรัชญาข้อที่ 2 Timeless Design (การออกแบบที่เหนือกาลเวลา) เป็นเรื่องของการลงทุนที่คุ้มค่าของลูกค้า เป็นการบริโภคแฟชั่นอย่างมีเหตุผล และสุดท้ายที่สำคัญที่สุดของการออกแบบในเชิงนามธรรมก็คือ ดีไซน์ต้องเข้าใจผู้บริโภคซึ่งมีความหลากหลาย
ชวนล เน้นในเรื่องมุมมอง “การเปลี่ยนเลนส์เพื่อใช้มอง บางทีซูมอิน บางทีมองแบบเลนส์ไวล์ด และเอามุมมองมาเปรียบเทียบกัน จะทำให้เราได้ข้อมูลบางอย่าง ตรงนี้เป็นโอกาสสำคัญมากที่เราจะก้าวไปเป็น Citizen of the World ถ้าทุกคนรู้จักขยายหรือซูมมุมมอง มั่นใจว่าทุกคนจะได้โอกาสที่สำคัญ ในการเป็น Citizen of the World”
งาน TCF Talk 2022 โดยมูลนิธิไทยคม เกิดขึ้นเพื่อส่งพลังและแรงขับเคลื่อนให้คนไทย และมุ่งหวังที่จะสานต่อวิสัยทัศน์และเจตนารมณ์ในการตระหนักถึงความสามารถและเห็นถึงความสำคัญในการสร้างโอกาสให้กับคนไทย
ในระยะเวลา 3 วันของการจัดงาน มี 30 บุคคลระดับแนวหน้าของประเทศจากหลากหลายวงการที่จะมาส่งมอบแรงบันดาลใจให้กับทุกคน อาทิ อดัม แบรดชอว์ อาจารย์สอนภาษาอังกฤษผู้มีเอกลักษณ์, วีรพร นิติประภา นักเขียนเจ้าของรางวัลดับเบิ้ลซีไรต์, หมอเอิ้น-พ.ญ.พิยะดา หาชัยภูมิ คุณหมอนักแต่งเพลงฮิต, แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2564 เป็นต้น
สำหรับเยาวชนและผู้สนใจเข้าร่วมงาน TCF Talk 2022 “Global Citizen เป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น คนไทยต้องเก่งให้จริง แล้วไปยืนบนเวทีโลก” ยังมีเวลาอีก 2 วัน คือ 8-9 ตุลาคม 2565 งานจัดระหว่างเวลา 10.00 น.-17.00 น. ที่ Voice Space เข้าร่วมงานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ลงทะเบียนเข้าร่วมงานที่ globalcitizen.thaicomfoundation.org (จำกัดจำนวนเพียง 500 ที่นั่งต่อวันเท่านั้น)
มูลนิธิไทยคม เชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย พร้อมหวังไกลให้คนไทยไปยืนบนเวทีโลก …
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น