18 มิถุนายน 2567 กรุงเทพฯ –สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีเอ็มเอ (TMA) เผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ (IMD – WCC) ประจำปี 2567 โดยในปีนี้ ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นถึง 5 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 25 จากทั้งหมด 67 เขตเศรษฐกิจที่มีการจัดอันดับ โดยในปีนี้ IMD – WCC ได้มีการเพิ่มเขตเศรษฐกิจที่จัดอันดับอีก 3 เขตเศรษฐกิจ คือ กาน่า ไนจีเรีย และเปอร์โตริโก้ รวมเป็น 67 เขตเศรษฐกิจ
จากปัจจัยหลักที่ IMD ใช้ในการจัดอันดับรวม 4 ด้าน มี 2 ปัจจัยที่ไทยมีอันดับดีขึ้นในปีนี้คือ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ที่ดีขึ้นถึง 11 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 5 และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจที่ดีขึ้น 3 อันดับ จากอันดับที่ 23 เป็นอันดับที่ 20 ในปีนี้ ในขณะที่ ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐาน มีอันดับคงเดิมในอันดับที่ 24 และ 43 ตามลำดับ ทั้งนี้ อันดับที่ดีขึ้นในด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจมาจากประเด็นด้านการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ที่ดีขึ้นถึง 23 อันดับมาอยู่อันดับที่ 6 ในปีนี้ อันเนื่องมาจากประเด็นด้านการท่องเที่ยวที่สัดส่วนของรายได้จากการท่องเที่ยวต่อ GDP (Tourism receipts) และการส่งออกด้านบริการ (Export of commercial services) รวมถึงดุลบัญชีเดินสะพัดมีอันดับที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก ในขณะที่ด้านระดับราคาและค่าครองชีพ (Prices) ดีขึ้น 10 อันดับจากปีที่แล้ว นอกจากนี้ ปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) มีอันดับดีขึ้นเล็กน้อย จากอันดับที่ 23 ในปี 2566 เป็นอันดับที่ 20 ในปี 2567 จากตัวชี้วัดด้านการบริหารจัดการ (Management Practices) ที่ตัวชี้วัดเกี่ยวกับความกลัวความล้มเหลวของผู้ประกอบการ (Entrepreneurial fear of failure) และกิจกรรมของผู้ประกอบการขั้นต้น (Total early-stage Entrepreneurial Activity) มีค่าและอันดับที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีถึงผลของความพยายามของทุกภาคส่วนในการผลักดันเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงในด้านผลิตภาพในภาพรวมที่มีอันดับลดลงจากอันดับที่ 38 เป็น 42 โดยเป็นผลจากอันดับที่ลดลงของผลิตภาพในเกือบทุกภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยที่มีอันดับไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่อยู่ในอันดับที่ 24 และ 43 เช่นเดียวกับปี 2566 ในด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ถึงแม้ว่าอันดับในภาพรวมจะอยู่ในระดับดีพอสมควร แต่ยังคงมีประเด็นที่ยังอยู่ในอันดับต่ำและควรให้ความสนใจได้แก่ กรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional Framework) กฎหมายด้านธุรกิจ (Business Legislation) และประเด็นด้านสังคม (Societal Framework) ในขณะที่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไทยยังอยู่ในอันดับต่ำมาโดยตลอด ถึงแม้อันดับในด้านสาธารณูปโภคสาธารณูปการ (Basic Infrastructure) และโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี (Technology Infrastructure) อยู่ในระดับปานกลาง แต่โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาด้านอื่น ๆ ได้แก่ สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม การศึกษา และวิทยาศาสตร์ ยังคงอยู่ในอันดับที่ค่อนข้างต่ำ คือ อันดับที่ 55 54 และ 40 ตามลำดับ
ในระดับอาเซียน ผลการจัดอันดับของ IMD ในปีนี้มีประเด็นที่พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นปีแรกที่ลำดับความสามารถในการแข่งขันของเขตเศรษฐกิจในอาเซียนที่ได้รับการจัดอันดับรวม 5 เขตเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสนใจ โดยสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มเขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถสูงสุด 1 ใน 5 ของการจัดอันดับของ IMD และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนมาโดยตลอด มีอันดับดีขึ้นจากอันดับ 4 ในปี 2566 มาอยู่อันดับที่ 1 ของโลกในปีนี้ และนับเป็นครั้งแรกที่ไทยและอินโดนีเซียได้ขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ของอาเซียนโดยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันในอันดับที่ 25 และ 27 ตามลำดับ ในขณะที่มาเลเชียมีอันดับลดลงจากอันดับที่ 27 เป็นอันดับที่ 34 และฟิลิปปินส์ยังคงอยู่ในอันดับที่ 52 เช่นเดียวกับปี 2566 ซึ่งอินโดนีเซียนับเป็นเขตเศรษฐกิจที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากมีอันดับดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดในระยะที่ผ่านมา และดีขี้นถึง 7 อันดับในปี 2567 จากปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ละสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ที่มีอันดับดีขึ้นถึง 8 6 และ 5 อันดับจากปี 2566 โดยประเด็นที่เป็นปัจจัยดึงดูด คือ พลวัตของเศรษฐกิจ (Dynamism of the economy) ความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน (Cost competitiveness) และความมั่นคงทางการเมือง (Policy stability & predictability)
เมื่อมองภาพรวมในระดับโลก เขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด 5 อันดับแรกในปี 2567 ได้แก่ สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ และฮ่องกง โดยเขตเศรษฐกิจที่ได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มที่มีอันดับสูงสุดของปี 2567 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดเล็กเช่นเดียวกับปีก่อนหน้า ซึ่ง IMD-WCC แสดงความคิดเห็นว่าผลดังกล่าวสะท้อนว่า ความสามารถในการแข่งขันไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของเขตเศรษฐกิจ และยังได้ ตั้งข้อสังเกตว่าตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) มีการพัฒนาศักยภาพด้านการนวัตกรรม ดิจิทัล และความหลากหลายเศรษฐกิจได้เท่าทันกับเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว ดังตัวอย่างของ จีน อินเดีย บราซิล อินโดนีเซีย และตุรกี ที่กลายเป็น ผู้เล่นที่สำคัญในด้านการลงทุน นวัตกรรม และภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน และสร้างโอกาสใหม่ๆ (New opportunities) และตลาด สำหรับธุรกิจและผู้บริโภค รวมถึงความเสี่ยงและความไม่แน่นอนใหม่ ๆ ที่ทำให้ทั้งรัฐบาลและธุรกิจที่สนใจตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้มากขึ้น
นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA Center for Competitiveness) กล่าวว่า “สำหรับประเทศไทยนับว่าน่ายินดีที่อันดับในปี 2567 ดีขึ้นกว่าปีก่อนถึง 5 อันดับโดยกลับมาอยู่ที่อันดับ 25 ที่เทียบเท่ากับอันดับในปี 2562 และเป็นอันดับดีที่สุดที่ไทยเคยขึ้นถึง ซึ่งปัจจัยหลักคือภาพการฟื้นตัวของผลตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มาจากการท่องเที่ยวและการขยายตัวของตลาดส่งออกหลังการยุติของโรคระบาด Covid-19 ขณะเดียวกันผมคิดว่าเป็นข้อท้าทายสำหรับเราว่าจะทำอย่างไรในการสร้างแรงขับเคลื่อนให้เราก้าวไปสู่อีกระดับได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากประเด็นที่ยังเป็นจุดอ่อนของไทยคือการขาดเม็ดเงินและทรัพยากรที่จำเป็นในการลงทุนเพื่อเสริมสร้างและแก้ปัญหาที่เรื้อรังในด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านที่เกี่ยวข้องกับการขาดผลิตภาพของภาคธุรกิจและภาคการผลิตที่สำคัญ การขาดแคลนคุณภาพและปริมาณของทรัพยากรมนุษย์ การขาดคุณภาพของการศึกษาและสุขภาพ และปัจจัยเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ไทยยังอยู่ในอันดับต่ำ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์...
...ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะสนับสนุนขีดความสามารถในด้านอื่น ๆ ของประเทศ ดังนั้นเพื่อทำให้ประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันในภาพรวมที่ดีขึ้นและสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกันคิดและขับเคลื่อน ภาครัฐในฐานะผู้กำหนดและดำเนินนโยบาย จะต้องนำประเด็นดังกล่าวมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนในการวางแผนและจัดทรัพยากรขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายและแผนการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ในขณะที่ภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา ภาคสังคม ต้องมุ่งเน้นการจัดสรรทรัพยากรไปในเป้าหมายเดียวกัน และที่สำคัญต้องพัฒนาศักยภาพของคนและองค์กรในทุกระดับให้สามารถจับสัญญาณแห่งอนาคต เท่าทันเทคโนโลยี มีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความคล่องตัวในการปรับปรุงพัฒนา และมีความสามารถในการนำเทคโนโลยีโดยเฉพาะดิจิทัลและ AI มาใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพในทุกภาคส่วน”
ทั้งนี้ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพขององค์กรและบุคลากรในด้านการบริหารจัดการโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างความสามารถในการติดตามและคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและตั้งเป้าหมายเชิงรุกผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของ TMA โดยในวันที่ 16-19 กันยายน 2567 นี้ จะมีการจัดงานเพื่อเฉลิมฉลอง TMA ในวาระครบรอบ 60 ปีที่ได้ดำเนินการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ภายใต้ชื่องาน 60 YEARS OF EXCELLENCE “Creating Great Leaders, Designing the Futures” ขึ้น ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ โดยจะมีวิทยากรผู้บริหารชั้นนำจากภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ให้เกียรติมาร่วมให้ความรู้ แบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ Building a Competitive Region, Way forward to Sustainability และ Technology as an Imperative
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น