เบาหวาน…ควบคุมได้ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ เร่งระดมทุกภาคส่วนร่วมสร้างเครือข่ายสู่ความสำเร็จ - Siamtimes.net

Breaking

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Post Top Ad

Responsive Ads Here

นิทรรศการ งานมหกรรม

การสื่อสาร

วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เบาหวาน…ควบคุมได้ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ เร่งระดมทุกภาคส่วนร่วมสร้างเครือข่ายสู่ความสำเร็จ



ผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทยที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้มีเพียงร้อยละ 40 แม้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมียาในการรับประทาน รวมถึงมีการให้อินซูลิน แต่องค์ประกอบที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ต้องอยู่ที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้ป่วยด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี “เครือข่าย” หรือ กลุ่ม รวมถึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริม สนับสนุนและปรับสภาพแวดล้อมเพื่อให้การปรับเปลี่ยนเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาในการดำเนินงานของทุกภาคส่วนโดยมีสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ เป็นแกนนำ ร่วมกับกรมการแพทย์ 13 เขตสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยบริษัท ซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมสนับสนุนการจัดสัมมนา “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การสร้างเครือข่ายและชมรมเบาหวานของประเทศไทย” ณ โรงพยาบาลราชวิถี เมื่อเร็วๆ นี้ 


นพ. ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า “ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นเบาหวานประมาณ 5 ล้านคนและมีแนวโน้มเป็นเบาหวานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากปีพ.ศ. 2534 คนไทยเป็นเบาหวานร้อยละ 2.3 และปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.9 เสียชีวิตจากโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนถึงร้อยละ 21.96 และยังควบคุมระดับน้ำตาลได้น้อยเพียงประมาณร้อยละ 40 มีผ้ป่วยเพียงร้อยละ 12 เท่านั้นที่สามารถควบคุมทั้ง 3 อย่าง คือ ระดับน้ำตาล ไขมัน และความดันโลหิต ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเบาหวานเฉลี่ยสูงถึง 47,596 ล้านบาทต่อปี และหากมี 3 โรคร่วมด้วย ได้แก่ ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือดสมอง ทำให้ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 3 แสนล้านบาทต่อปี” 


นพ. เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า แนวทางในการรักษาผู้ป่วยเบาหวานจะต้องประกอบด้วยหลายส่วน ทั้งการให้ความรู้และสร้างทักษะเพื่อการดูแลโรคเบาหวานด้วยตนเอง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไข้ การให้ยาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง ซึ่งการให้ความรู้เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ดูแลและผู้ที่มีความเสี่ยง มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวาน วิธีการดูแลรักษาโรคเบาหวาน สร้างทักษะเพื่อการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง และให้ความร่วมมือในการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น รูปแบบการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วย จะต้องอาศัยความสัมพันธ์แบบพึ่งพา เป็นการหารืออภิปรายแลกเปลี่ยนกันและกัน จนเห็นพ้องต้องกัน จึงจะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และปฏิบัติได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นยังพบว่าผู้ป่วยมีการควบคุมระดับน้ำตาลได้น้อย โดยคนไข้ใหม่ในปีแรกจะดูแลตัวเองดีมาก คุมระดับน้ำตาลได้ดี แต่เมื่อนานไปเริ่มที่จะคุมไม่ได้ ซึ่งการจะบอกคนไข้ให้เปลี่ยนพฤติกรรม วิถีชีวิตและต้องเปลี่ยนไปตลอดชีวิตกับสิ่งที่คุ้นเคยมานาน 30-40 ปี ไม่ใช่เรื่องง่ายและเกิดขึ้นได้ทันที

นพ.เพชร กล่าวเพิ่มเติมว่า การจะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้นนั้น จะต้องอาศัยมิติเชิงสังคมและวัฒนธรรมด้วยตามแบบแผนการดูแลโรคเรื้อรังจะต้องประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ระบบสุขภาพ และชุมชนซึ่งจะเป็นส่วนที่สำคัญ เนื่องจากเมื่อคนไข้ได้รับความรู้และการดูแลจากระบบแล้ว จะต้องกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน ในชุมชน สภาพแวดล้อมของคนไข้ส่วนใหญ่จึงอยู่ที่ชุมชน เพราะฉะนั้น การที่จะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถดูแลตนเอง ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีอย่างยั่งยืน จะต้องอาศัยครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยในการสนับสนุนอำนวยความสะดวก เพื่อให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อจะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานดูแลตนเองได้ดีขึ้น แต่หากมุ่งเน้นการดูแลแต่เฉพาะในสถานพยาบาลจะไม่สำเร็จ แนวทางการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม สามารถเริ่มต้นด้วยการใช้รูปแบบของการสร้างชมรม เครือข่ายหรือกลุ่มคนในชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาคล้ายคลึงกันมารวมตัวกัน ด้วยความสมัครใจ เพื่อช่วยเหลือกันและกัน ด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์อย่างสม่ำเสมอ ส่งเสริมให้มีกำลังใจ สามารถปรับตัว และมีศักยภาพในการดูแลตนเองและจัดการกับสุขภาพตนเอง เพราะคนไข้ด้วยกันจะมีความเข้าใจกันและกันมากกว่าแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

“เป้าหมายหลักของการมีกลุ่มสนับสนุนหรือเครือข่ายผู้ป่วยเบาหวานที่ช่วยเหลือ ประคับประคอง ส่งเสริมสนับสนุน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเผชิญกับความวิตกกังวล ลดความรู้สึกที่ต้องแยกตัวออกจากสังคม เพื่อความสามารถในการเผชิญกับความเจ็บป่วย มีการรับรู้ที่ถูกต้อง รู้จักแหล่งให้ความช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพในการดูแลตนเอง ทั้งนี้มีงานวิจัยในต่างประเทศ พบว่า การมีกลุ่มสนับสนุนของผู้ป่วยเบาหวาน ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานดีขึ้นอย่างชัดเจน เช่น หากผู้ป่วยมีความตั้งใจที่จะงดรับประทานอาหารหวาน มัน เค็ม แต่คนในชุมชนไม่เข้าใจแล้วติว่าอาหารไม่อร่อย ผู้ป่วยก็อาจจะท้อและเลิกทำ แต่หากมีกลุ่มหรือเครือข่ายที่เข้าใจกัน ก็จะคอยส่งเสริมสนับสนุน ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่จะทำสิ่งนั้นๆ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลตนเองต่อไปได้” นพ.เพชรกล่าว 


ศ.คลินิก นพ.วีระศักดิ์ ศรินนภากร กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเสริมว่า ทุกส่วนต้องมีส่วนในการดูแลสุขภาพของตัวเองและครอบครัวด้วย การให้ความรู้เพื่อจัดการตนเองในผู้ป่วยเบาหวานจึงสำคัญ และความรู้ความเข้าใจที่เจ้าหน้าที่ให้ไปนั้นจะต้องส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยที่ผู้ป่วยสามารถทำพฤติกรรมนั้นได้เอง แม้ไม่มีเจ้าหน้าที่หรือผู้ให้ความรู้อยู่ด้วย ดังนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่ให้ความรู้จะต้องรู้จักเรื่องการพูดเพื่อสร้างแรงจูงใจด้วย และต้องแสดงให้ผู้ป่วยรับรู้ได้ถึงความใส่ใจและปรารถนาดีจึงได้แนะนำแนวทางการปฏิบัติตน เพราะคนไข้ไม่ได้ใส่ใจมากนักว่าผู้ที่สอนมีความรู้มากแค่ไหน แต่สนใจว่าคนนั้นแคร์หรือห่วงใยเขาจริงใจหรือไม่ ซึ่งหากทำให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่มีอยู่กว่า 1 ล้านคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการให้ความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานก็น่าจะได้ผล เพราะอสม.เป็นคนคุ้นเคยอยู่ในชุมชน ผู้ป่วยย่อมมีความไว้วางใจ โดยอาจจะต้องเพิ่มเติมแนวทางหรือองค์ความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานให้อสม.เพิ่มขึ้น เพื่อนำไปแนะนำผู้ป่วยต่อไป


การมีกลุ่มสนับสนุนและการสร้างเครือข่ายสามารถเกิดขึ้นได้จริง โดยรพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก เป็นต้นแบบของความสำเร็จในการควบคุมโรคเบาหวานและการสร้างเครือข่ายในพื้นที่ Life Long NCDs นพ.วิรัช ศิริกุลเสถียร อายุรแพทย์ รพ.พุทธชินราช กล่าวว่า นวัตกรรม Life Long NCDs ซึ่งเป็นการช่วยให้คนมีชีวิตยืนยันปลอดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มีแนวคิดว่าจะต้องดำเนินการในทุกกลุ่มวัย เชื่อมโยงทุกภาคี ดูแลระดับบุคคล ครอบครัวชุมชน จึงมีการเริ่มต้นตั้งแต่การตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ การมีคลินิกติดตามเด็กและมารดาหลังคลอด จัดการเรื่องเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นด้วยการมีสถานศึกษา/โรงเรียนต้นแบบ โรงเรียนหุ่นดีด้วยการเข้าไปคัดกรองเด็กนักเรียนที่มีภาวะอ้วนลงพุง แล้วแนะนำแนวทางปฏิบัติในการลดน้ำหนักของแต่ละคน โดยมีการติดตามความเปลี่ยนแปลงโดยเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง เช่น เด็กบางคนดื่มชานมไข่มุกทุกวัน เมื่อเจ้าหน้าที่วัดน้ำหนักก่อนการปรับพฤติกรรม และแนะนำให้เปลี่ยนพฤติกรรมเริ่มต้นจากสิ่งที่เด็กน่าจะทำได้ จากดื่มทุกวันเป็นวันเว้นวันและค่อยๆ ปรับไปเรื่อย จากนั้นวัดน้ำหนักซ้ำใน 1 เดือน เมื่อเด็กเห็นว่าน้ำหนักลดจริงก็จะมีกำลังใจที่จะทำต่อๆ ไป ซึ่งมีการศึกษาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของการรับรู้ความสามารถของตน การกำกับตนเอง พฤติกรรมดูแลตนเองและน้ำหนักตัวหลังกิจกรรมเสร็จสิ้น 4 สัปดาห์ พบว่านักเรียนม.ปลายที่มีโภชนาการเกินมีน้ำหนักตัวลดลงที่ร้อยละ 65 โดยมีน้ำหนักตัวคงที่ 24 คน และเพิ่มขึ้น 11 คน รวมถึงการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการดำเนินโครงการเครือข่ายราชการต้นแบบ แกนนำสุขภาพภาครัฐ โรงงานต้นแบบ วัดต้นแบบ และชุมชนต้นแบบ เป็นการดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม โดยการเข้าไปแนะนำถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ลดความเสี่ยงของโรค เช่น ครัวต้นแบบ การให้ร้านอาหารในพื้นที่ มีเมนูอาหารที่เค็มน้อยอร่อยดี เป็นเมนูทางเลือกสำหรับประชาชนอย่างน้อย 1-3 เมนู 

นอกจากนี้ ดำเนินการระดับบุคคล ด้วยการคัดกรองประชาชนแล้วให้ความรู้และการดำเนินการตามความเหมาะสมของแต่ละกลุ่ม อย่างกลุ่มเสี่ยงจะให้คำแนะนำวิธีการปฏิบัติเพื่อไม่ให้กลายเป็นกลุ่มป่วย กลุ่มป่วยก็จะส่งเสริมแนวทางในการควบคุมโรคให้ได้ เช่น การมีตู้เย็นรอบบ้านจากการปลูกผักกินเอง มีอาสาสมัครครอบครัว (อสค.) เข้าไปดูแล และกลุ่มป่วยนอกระบบมีการร่วมกับเครือข่ายคลินิกประกันสังคมและร้านยาคุณภาพในการร่วมดูแลและลดความแออัดในสถานพยาบาล ตัวอย่างชุมชนต้นแบบ คือที่ “ชุมชนจอมทอง” อ.เมือง ซึ่งมีวิสัยทัศน์ชุมชนที่ให้ชาวจอมทองสุขภาพพอเพียง ผู้นำชุมชนจึงมีนโยบายสาธารณะในเรื่องเหล้า บุหรี่ ห้ามเผาหญ้า โรงเรียนปลอดก๊อบแก๊บ ร้านค้าต้นแบบ ร้านนี้ดีมีเมนูอ่อนหวาน ร้านนี้เกลือเจือจาง ล้อมรั้วด้วยรักปลูกผักสวนครัว วัดปลอดพระ(อ้วน) เครือข่ายพระบิณฑบาตความทุกข์ด้วยการนิมนต์พระเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เป็นต้น 


เมื่อมีการขับเคลื่อนทั้งชุมชนเช่นนี้ ส่งผลให้การรายงานอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันในผู้ป่วยเบาหวานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จอมทอง เป็น 0 ตั้งแต่ปี 2559-2562 เหล่านี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จในการควบคุมระดับน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานนั้น จำเป็นที่จะต้องมีเครือข่ายที่เข้าใจและพร้อมดำเนินการไปด้วยกัน รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนจากครอบครัวและชุมชน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Top Ad

Responsive Ads Here